นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยทิศทางพัฒนาการของตลาดค้าปลีกอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEA จากรายงานการศึกษาของบริษัท McKinsey ระบุว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างปี 2560 – 2564 มียอดขายเติบโตสูงกว่า 40% ต่อปี โดยเฉพาะการค้าปลีก ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 20% และคาดว่าในปี 2569 ตลาดอีคอมเมิร์ซ SEA จะมีมูลค่าราว 2.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตกว่า 22% เทียบกับปี 2564
-จุดเปลี่ยนที่ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซใน SEA เติบโต อย่างก้าวกระโดด เกิดจากการที่ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้อย่างแพร่หลาย ตลอดจนการเข้าตลาดของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้ โทโกพีเดีย ทิกิ และเซนโดในประเทศต่าง ๆ
โดยมีอัตราการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซ ในประเทศอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เฉลี่ยที่ 30% รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เฉลี่ยที่ 15% ซึ่งอินโดนีเซียเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักด้วยตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ทั้งนี้ อินโดนีเซีย และเวียดนาม แม้จะเป็นตลาดใหญ่ แต่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเฉพาะในปี 2560 และ 2562 ขณะที่ไทยถือเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่ง เนื่องจากมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
-ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซใน SEA ได้พัฒนาขึ้นอีกระดับ ผู้บริโภคมีความคุ้ยเคยกับการซื้อสินค้าออนไลน์ แนวโน้มของพฤติกรรมการซื้อสินค้าจึงซับซ้อนมากขึ้น เช่น
1) สินค้าที่ซื้อมีราคาต่อหน่วยสูงขึ้น แสดงถึงความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ
2) ราคาไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการตัดสินใจซื้อ ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้น
3) ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่ซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซมีความหลากหลายขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม
4) สามารถสั่งซื้อจากหลายช่องทาง เช่น แพลตฟอร์มตลาดกลาง เว็บไซต์ และโซเชียลคอมเมิร์ซ ฯลฯ
-จากเดิมที่ส่วนใหญ่เคยพึ่งพาสินค้านำเข้าจากจีน กลายมาเป็นการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานและการกระจายสินค้าในประเทศและภายในภูมิภาค SEA มากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ที่จะเตรียมพร้อมรองรับความหลากหลายที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าโลจิสติกส์ในอนาคต ทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือในการให้บริการ ช่องทางการค้า และประเภทผลิตภัณฑ์
-แม้ว่าตลาดโลจิสติกส์ในประเทศไทยจะแข่งขันสูง ทั้งด้านราคาและการให้บริการที่รวดเร็ว แต่ยังมีช่องว่างทางการตลาดจากโอกาสของอีคอมเมิร์ซไทยที่จะเติบโตกว่าเท่าตัวในปี 2569 จากข้อมูล Euromonitor คาดการณ์มูลค่าค้าปลีกอีคอมเมิร์ซของไทยจากมูลค่า 4.24 แสนล้านบาทในปี 2565 เพิ่มเป็น 9.06 แสนล้านบาทในปี 2569 ซึ่งสถิติในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยมีนิติบุคคลเปิดกิจการขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต 1,459 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.04 จากปีก่อน และจนถึงปัจจุบันมีการลงทุนสะสมรวม 50,713.41 ล้านบาท สัดส่วนการลงทุนแบ่งเป็นไทย 58.6% และต่างชาติ 41.4% จากสิงคโปร์ ฮ่องกง จีน และอื่น ๆ ตามลำดับ