นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทำการสำรวจโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวพัชรมณฑน์ ตระกูลทิวากร ทูตพาณิชย์ประจำกรุงมาดริด สเปน ถึงการที่สเปนเตรียมบังคับใช้ข้อกำหนดของสหภาพยุโรปภายใต้ระเบียบ Directive (EU) 2019/904 ว่าด้วยการลดผลกระทบจากพลาสติกที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2562 โดยได้ออกกฎหมายกำหนดให้ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์พลาสติกไม่เกิน 3 ลิตร ต้องใช้ฝาแบบยึดกับขวด และจะมีผลบังคับใช้เริ่มวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 นี้
ทั้งนี้ การออกกฎหมายดังกล่าว ทูตพาณิชย์รายงานว่านอกจากเป็นไปตามข้อกำหนดของอียูแล้ว สเปนต้องการมุ่งสู่การปรับตัวสีเขียว การลดขยะ การต่อสู้กับมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขวดพลาสติก และโดยเฉพาะฝาขวดพลาสติก และการผลิตยังสอดคล้องกับมาตรฐานที่ได้รับการยินยอมในระดับสหภาพยุโรป โดยตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 ขวด PET ที่วางจำหน่ายในตลาดได้ จะต้องมีส่วนประกอบของพลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อย ร้อยละ 25 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2573 บรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่วางจำหน่ายในตลาดได้ จะต้องประกอบด้วยพลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อยร้อยละ 30
สำหรับการปรับตัวของผู้บริโภค ได้มีการปรับตัวและจะกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนฝั่งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ที่อยู่ในอุตสาหกรรรม ได้เตรียมความพร้อมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปรับลักษณะบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ยังคงสามารถวางจำหน่ายในตลาดได้ ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ก็เร่งสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์การบริโภคที่สะดวกสบายที่สุด อาทิ ออกแบบการยึดติดกับขวดให้มีการรบกวนผู้บริโภคน้อยที่สุด หรือ ใช้วัสดุฝาทางเลือกอื่น เช่น stainless Steel เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 สเปนได้ออกกฎหมายเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (single use plastic packaging) เพื่อป้องกันและลดผลกระทบของผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อสิ่งแวดล้อม 0.45 ยูโรต่อกิโลกรัม โดยเก็บจากการผลิต การนำเข้า และการได้มาของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ผลิตภัณฑ์พลาสติกกึ่งสำเร็จรูปสำหรับการผลิตที่ใช้บรรจุหีบห่อ ผลิตภัณฑ์บรรจุในพลาสติกที่ปิดผนึกเพื่อใช้ครั้งเดียวและเพื่อการตลาดคำนวณจากปริมาณพลาสติกที่ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล (กิโลกรัม) ทั้งนี้ ผู้เสียภาษีต้องยื่นการประเมินตนเองเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาสเช่นเดียวกันกับการประเมินตนเองสำหรับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ยกเว้นกรณีการนำเข้า อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ เช่น ไม่บังคับใช้กับสินค้านำเข้าปริมาณน้อยๆ ภาชนะที่ออกแบบสำหรับบรรจุหีบห่อและการจัดจำหน่ายของยา ผลิตภัณฑ์ด้านอนามัย อาหารสำหรับใช้ทางการแพทย์เป็นพิเศษ สูตรอาหารทารกที่ใช้ในโรงพยาบายและขยะอันตราย
ทั้งนี้กฎระเบียบการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งมีแนวโน้มเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สีเขียว และความยั่งยืน ผู้ประกอบการไทยจึงต้องติดตามกฎระเบียบอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญ ผู้เล่นรายใหม่ที่ต้องการบุกเจาะตลาด จะต้องเพิ่มน้ำหนักในการปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียว เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน และสร้างภูมิทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เร่งให้ความรู้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทย ให้เข้าใจถึงกฎระเบียบ และเตรียมพร้อมปรับตัว เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals :SDG)อาทิ การออกแบบกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยของเสีย การสร้างนวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์ การใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีแต้มต่อ ดำเนินธุรกิจอย่างมีทิศทาง มีการลงทุนที่คุ้มค่า มีขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีสากล และเติบโตอย่างยั่งยืน