นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ได้วางแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในปี 2567 ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต เพื่อเป็นกรอบทิศทางการดำเนินงานที่สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก (Megatrends) ภายใต้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและสังคมโลกยุคใหม่ ซึ่งได้เร่งเดินหน้าตามนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ผ่านการขยายเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) โดยนโยบาย RESHAPE THE FUTURE ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ที่สำคัญ คือ
ปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) ผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DIGITAL TRANSFORMATION) ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ได้รับฟังข้อคิดเห็นและปัญหาจากสมาคมเครือข่ายและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และสนับสนุน เพื่อจัดทำแผนการส่งเสริมให้ได้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหนึ่งในความคืบหน้าที่สำคัญ คือ การทำข้อตกลงความร่วมมือกับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของประเทศญี่ปุ่น ในการนำผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีด้านยานยนต์เข้ามาช่วยพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน รวมถึงมีความพร้อมรองรับการผลิตชิ้นส่วนที่ตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตของอุตสาหกรรมนี้
อีกทั้ง ยังได้หารือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อบูรณาการผลักดันอุตสาหกรรมอวกาศให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมอวกาศจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงในทุก ๆ ด้าน นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพด้วยการผลักดันการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยในช่วงกลางปี 2567 ดีพร้อม เตรียมเปิดตัวโครงการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงทีด้วย อาทิ สถานการณ์น้ำท่วม ภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมโดยรวม
ปรับเปลี่ยนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) ผ่านการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค (ECONOMIC CORRIDOR) ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลักดันนโยบายการพัฒนาโกโก้สู่การเป็น ASEAN COCOA HUB เนื่องจากโกโก้เป็นผลผลิตการเกษตรที่มีมูลค่าสูงและยังเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นอาหารซุปเปอร์ฟู้ดที่เป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญในการยกระดับจากการเป็นผู้ผลิตอาหารแปรรูป ไปสู่ผู้นำในการผลิตอาหารซุปเปอร์ฟู้ด โดยจะใช้ศักยภาพด้านการเกษตรที่แข็งแกร่งของไทยบวกกับความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีในการผลิตอาหารแปรรูป จึงทำให้ไทยมีโอกาสสูงในด้านการเป็น ASEAN COCOA HUB ในอนาคตอันใกล้นี้
นอกจากนี้ ยังได้ปรับแนวทางการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนภายใต้แนวคิด “ชุมชนเปลี่ยน เปลี่ยนชุมชนให้ดีพร้อม” (Community Transformation) โดยได้ร่วมมือกับ Toyota ยกระดับการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบการบริหารจัดการกระบวนการผลิตด้วยหลักการ Toyota Production System (TPS) ซึ่งหลังจากนี้ ดีพร้อมจะต่อยอดขยายความร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่ทั้งของไทยและบริษัทข้ามชาติ เพื่อร่วมมือพัฒนาธุรกิจชุมชนมากขึ้นทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ และช่องทางการตลาด ตลอดจนการจัดงานแฟร์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ อาทิ อุตสาหกรรมแฟร์
ปรับเพิ่มการเข้าถึงโอกาส (RESHAPE THE ACCESSIBILITY) ผ่านการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (FINANCIAL INCLUSION) โดยพัฒนากลไกการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่ม SMEs ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ SME ผ่านทางโครงการ “ติดปีกเอสเอ็มอี หลักทรัพย์ไม่มี ดีพร้อมค้ำประกันให้” โดยได้ร่วมมือกับ 5 สถาบันการเงิน ได้แก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ ดีพร้อม และ บสย. ร่วมกันพิจารณาการค้ำประกันและสามารถแจ้งผลพิจารณาเบื้องต้น ภายใน 7 วันทำการ โดยคาดว่าจะมีเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้วงเงินไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และสามารถต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจและสร้างโอกาสเติบโตคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการเงินให้กับผู้ประกอบการไทยผ่านสินเชื่อธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (DIPROM Pay for BCG) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุง/พัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงาน หรือรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อันจะส่งผลให้ลดต้นทุนในกระบวนการผลิตได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อเชื่อมโยงผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยความร่วมมือนี้จะทำให้นักวิจัยและผู้ประกอบการได้ทำงานกันอย่างใกล้ชิด ด้วยการนำผลการวิจัยมาปรับปรุงให้ผลิตเป็นสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาดได้มากขึ้น อีกทั้ง ยังได้ร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยในการสนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยเข้าถึงช่องทางและโอกาสทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งพัสดุ/ผลิตภัณฑ์ การให้บริการคลังสินค้าครบวงจร (Fulfillment) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกนารจัดการสินค้าตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปลายทาง การจำหน่ายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ
การให้บริการขนส่งสินค้าแช่เย็น/แช่แข็ง (Fuze Post) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและมีบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยตรงตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมการขายผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงเป็นช่องทางการขนส่งและจัดจำหน่ายทั้งแบบออฟไลน์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศ หรือร้านธงฟ้า
และออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Thailand Post Mart ตลอดจนการเชื่อมโยงผู้ประกอบการไปยังแพลตฟอร์มอเมซอนและอีเบย์อีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2567 ดีพร้อม ได้ตั้งเป้าหมาย ในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมกว่า 18,400 ภายใต้งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย