ดีป้า (depa) เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 4 ปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังไม่อยู่ในระดับเชื่อมั่น ระบุสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติจากการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์ COVID-19 ชี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลต้องเตรียมการรับมือกับผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และการขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมยังไม่ดีเท่าที่ควร
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Sentiment Index) ไตรมาส 4 ประจำปี 2565 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 49.0 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 48.6 ในไตรมาส 3 และปรับขึ้นในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านผลประกอบการ ปริมาณการผลิตฯ คำสั่งซื้อฯ โดยเฉพาะด้านต้นทุนประกอบการฯ ที่ความเชื่อมั่นปรับระดับสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี แต่ในทางกลับกัน ความเชื่อมั่นฯ ด้านการจ้างงาน และการลงทุนเพื่อประกอบการ ปรับตัวลงในไตรมาสนี้
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า รูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนไทยที่เปลี่ยนไปตามความปกติใหม่ (New Normal) ส่งผลให้กำลังซื้อภาคเอกชนในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการขยายฐานการผลิตเพื่อตอบรับกระแสการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability) ส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในภาพรวม ขณะเดียวกัน การจ้างบุคลากรยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ด้วยลักษณะของงานทำให้บุคลากรที่มีทักษะสามารถรับงานจากต่างประเทศได้ อีกทั้งได้รับค่าตอบแทนที่ดีกว่างานในประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านดิจิทัลในตลาดแรงงานไทย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังขาดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกส่งผลให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจด้านดิจิทัลในประเทศอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ อีกทั้งยังมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก
หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะพบว่ามี 3 อุตสาหกรรมย่อยที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวขึ้นมาสูงกว่าระดับ 50 ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อยู่ที่ระดับ 52.9 กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล อยู่ที่ระดับ 51.8 และกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ อยู่ที่ระดับ 52.9 ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 43.6 และ กลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม อยู่ที่ระดับ 46.9
“ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐปรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลให้ตรงจุด เพิ่มมาตรการส่งเสริมการเข้าถึงตลาดโลก สนับสนุนการจับคู่ธุรกิจกับบริษัทในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการผลิตบุคลากรเพื่อเติมเต็มความต้องการของตลาดแรงงานดิจิทัลในประเทศ และอีกประเด็นที่สำคัญคือ การเพิ่มการประชาสัมพันธ์นโยบายและมาตรการภาครัฐ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงมาตรการเหล่านั้นได้มากยิ่งขึ้น” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว