ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล Q1/68 พลิกฟื้น รับแรงหนุนเศรษฐกิจ-การแข่งขันของ AI โลก

ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล Q1/68 พลิกฟื้น รับแรงหนุนเศรษฐกิจ-การแข่งขันของ AI โลก

ดีป้า เผยผลสำรวจล่าสุด ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลไตรมาสแรกปี 2568 กลับสู่แดนบวกที่ระดับ 50.1 หลังอานิสงส์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยนโยบายผ่อนคลาย และการแข่งขันเทคโนโลยี AI ระดับโลก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ กีดกันการค้า และการปรับตัวไม่ทันเทคโนโลยีใหม่

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Industry Sentiment Index) ประจำไตรมาส 1 ปี 2568 พบว่า ดัชนีปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.1 จาก 48.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของผลประกอบการ ปริมาณการผลิต การจ้างงาน และการลงทุน

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท และ Easy E-Receipt 2.0 รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง การย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ และการแข่งขันด้าน AI เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นกลับมาอยู่ในระดับ “เชื่อมั่น” อีกครั้ง หลังเคยลดลงสู่ระดับ “ไม่เชื่อมั่น” ในไตรมาส 4 ปี 2567

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มาตรการกีดกันทางการค้า และความท้าทายในการปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีใหม่

เมื่อพิจารณาในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มที่มีดัชนีความเชื่อมั่นสูงกว่า 50 ในไตรมาส 1/2568 ได้แก่ กลุ่มซอฟต์แวร์ (51.5) กลุ่มบริการด้านดิจิทัล (53.5) และกลุ่มโทรคมนาคม (52.0) ในขณะที่กลุ่มฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (45.8) และกลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ (46.4) มีดัชนีความเชื่อมั่นต่ำกว่า 50

ดีป้ายังระบุว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลต้องการให้ภาครัฐเร่งพัฒนากำลังคนดิจิทัล ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล สนับสนุนนวัตกรรม จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ

ด้าน ดร.วาริน รัชนานุสรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ได้เสนอแนะแนวทางการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพ โดยชี้ว่า ปัจจุบันสตาร์ทอัพไทยยังเผชิญความท้าทายด้านการเข้าถึงแหล่งทุน ที่ปรึกษา เครือข่ายระหว่างประเทศ และกลไกภาครัฐที่ไม่ยืดหยุ่น รวมถึงการที่ภาคธุรกิจดั้งเดิมยังประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ไม่เต็มที่

ดร.วาริน เสนอให้พัฒนาโปรแกรม Venture Building สร้างระบบนิเวศที่เน้นความร่วมมือ และมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เข้มแข็ง ซึ่งหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ สร้างความมั่นคงทางเทคโนโลยี และส่งเสริมความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมดิจิทัลได้ในระยะยาว

สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 1 ประจำปี 2568 และไตรมาส 4 ประจำปี 2567 ผ่านช่องทางการสื่อสารของ ดีป้า www.depa.or.th/th/depakm/digital-indicators

“Maha Songkran World Water Festival 2025” 3 วันแรก ยอดผู้ร่วมงานทะลุ 5.5 แสน เงินหมุนเวียนกว่า 1.7 พันล้านบาท

Scroll to Top