ผลกระทบจากสงครามในยูเครนยังไม่ส่งผลต่อการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ โดยการส่งออกในเดือนนี้ขยายตัว 16.2% เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 8% โดยหากพิจารณาเทียบกับเดือนมกราคม (ปรับผลของฤดูกาล) การส่งออกจะขยายตัว 4.4% (MOM, SA) สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของประเทศสำคัญหลายประเทศทั่วโลก และดัชนีชี้นำกิจกรรมการผลิตทั่วโลกที่กลับมาเร่งตัวได้อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ หลังชะลอตัวลงจากผลกระทบของโอมิครอนในเดือนมกราคม
EIC คาดว่าการส่งออกและนำเข้าของไทยในปี 2022 จะขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้า แต่จะเป็นผลจากปัจจัยทางด้านราคามากกว่าปริมาณ ซึ่งจะแตกต่างจากสถานการณ์ในช่วงปี 2021 ที่เป็นผลจากการขยายตัวด้านปริมาณเป็นหลักตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในปีนี้ ปริมาณการส่งออกไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากผลของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจทำให้อุปสงค์โลกชะลอตัว โดยเฉพาะในตลาดยุโรป อีกทั้ง ยังได้รับผลกระทบผ่านระดับราคาโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าพลังงานและวัตถุดิบการผลิตที่สำคัญหลายชนิด ตามมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ ต่อรัสเซียและความเสี่ยงต่อการชะงักงันด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้น
–FutureTales Lab by MQDC เผย 3 มุมมองใหม่อนาคตของการทำงาน
–ดีพร้อม สตาร์ทอัพ คอนเน็ค ปี 3 เชื่อมทุนหนุนนวัตกรรม BCG โยงเครือข่ายปั้นนวัตกรรมร่วม Co-Creation
มูลค่าการส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ขยายตัว 16.2% เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 8% ในขณะที่การนำเข้าสินค้าขยายตัว 16.8% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 20.5% โดยถึงแม้ว่าดุลการค้าในเดือนนี้จะเกินดุล 123.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อรวมกับข้อมูลในเดือนมกราคมจะยังคงขาดดุลที่ -2,403.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยในเดือนนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลการส่งออกและนำเข้ารายสินค้าในเดือนมกราคม เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงรหัสสถิติสินค้าตามพิกัดศุลกากร ซึ่งดำเนินการในทุก 5 ปี สำหรับการส่งออกสินค้ารายตลาด กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า ตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวมากที่สุดเป็น 5 ลำดับแรก ได้แก่ รัสเซีย (33.4%), อาเซียน 5 (31.5%), ฮ่องกง (29.8%), เกาหลีใต้ (28.9%) และสหรัฐฯ (27.2%)
การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามในยูเครน เนื่องจากสงครามเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยการส่งออกในเดือนนี้ยังมีทิศทางขยายตัว โดยหากพิจารณาเทียบกับเดือนมกราคม (ปรับผลของฤดูกาล) การส่งออกจะขยายตัว 4.4% (MOM, SA) สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของประเทศสำคัญหลายประเทศทั่วโลก และดัชนีชี้นำกิจกรรมการผลิตทั้ง Global Manufacturing PMI – Export Orders และ Manufacturing PMI ที่กลับมาเร่งตัวได้อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ หลังชะลอตัวลงจากผลกระทบของโอมิครอนในเดือนมกราคม ทั้งนี้การส่งออกของไทยอาจเริ่มเห็นผลกระทบจากสงครามในยูเครนในเดือนมีนาคม-เมษายน โดยเฉพาะการส่งออกไปยุโรป อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อมูลการส่งออก 20 วันแรกของเดือนมีนาคมของเกาหลีใต้ก็จะพบว่ายังมีแนวโน้มที่ดีอยู่
EIC คาดส่งออกและนำเข้าของไทยในปี 2022 จะขยายตัวได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้า แต่ขยายตัวจากปัจจัยทางด้านราคามากกว่าปริมาณ โดยจะแตกต่างจากสถานการณ์ในปี 2021 ที่เป็นผลจากการขยายตัวด้านปริมาณเป็นหลักตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
การขยายตัวด้านราคาสินค้าส่งออกในปีนี้จะเป็นผลจากระดับราคาสินค้าและโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าพลังงาน จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกโภคภัณฑ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ โลหะอุตสาหกรรม และวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าและราคาส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในปีนี้
ถึงแม้เศรษฐกิจโลกในปี 2022 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะส่งผลต่อการชะลอตัวของอุปสงค์โลก รวมถึงการชะงักงันด้านอุปทานและมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ ต่อรัสเซียที่อาจเริ่มเห็นถึงผลกระทบในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน แต่ปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นยังเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญของการขยายตัวของการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ ปีนี้มีปัจจัยบวกที่หนุนการส่งออกของไทยเพิ่มเติม คือความคืบหน้าในด้านการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย โดยล่าสุดคณะกรรมการอาหารและยาของซาอุดีอาระเบียได้อนุญาตให้นำเข้าไก่จาก 11 โรงงานของไทยได้ โดยไทยจะเริ่มต้นส่งออกไก่ให้กับซาอุดีอาระเบียในต้นเดือนเมษายน 2022 นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสในการเจาะตลาดสินค้ากลุ่มอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน และสินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ ในซาอุดีอาระเบียในระยะต่อไป นอกจากนี้ การทำสนธิสัญญาการค้าระหว่างไทยและรัฐหรือเมืองต่าง ๆ ในอินเดีย จีน เกาหลี และญี่ปุ่น รวมถึงการทยอยเปิดการค้าชายแดนกับเพื่อนบ้านในอาเซียนก็จะเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีเช่นเดียวกัน