ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) ได้ปรับเพิ่มประมาณจีดีพีไทยปี 65 เพิ่มเป็น 3% จากเดิมที่ 2.9% และมีแนวโน้มขยับขึ้นเป็น 3.7% ในปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน หลังการผ่อนคลายมาตรการโควิด19 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยปีนี้ดีกว่าที่คาด โดยอยู่ที่ 10.3 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 28.3 ล้านคนในปีหน้า ซึ่งคิดเป็น 70% ของนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนโควิด19 หลังจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายด้านการท่องเที่ยวตั้งแต่ปลายปีนี้ ส่วนนักท่องเที่ยวจีนคาดว่าปีหน้าจะกลับมาได้ราว 3.9 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวจีนช่วงก่อนโควิด19
นอกจากนี้ยังได้ปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อปี 65 จากเดิม 5.9% เป็น 6.1% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงอย่างช้า ๆ ในปี 66 อยู่ที่ 3.2% แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงาน อาหาร และการส่งผ่านต้นทุนผู้ผลิตไปยังสินค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภค กระทบต้นทุนและการลงทุนของธุรกิจ กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทลงมา จะมีความเสี่ยงรายได้โตไม่ทันค่าใช้จ่าย ขณะที่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 5% ในปลายปีนี้ ซึ่งยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อสะสมตั้งแต่ปี 63 ทำให้แรงงานที่พึ่งพาค่าจ้างขั้นต่ำมีรายได้ที่แท้จริงลดลง
–พาณิชย์ ประกาศชัด ห้ามขึ้นราคาผัก ซ้ำเติมน้ำท่วม ชี้ปริมาณและราคายังคงปกติ
ส่วนการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ค่าเงินบาทที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญแรงกดดันการอ่อนค่าของเงินบาท แต่ในช่วงปลายปีต่อเนื่องจนถึงปีหน้า มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัด การท่องเที่ยวและการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนเข้าตลาดการเงินของไทย คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐในสิ้นปีนี้ ส่วนปีหน้าจะอยู่ที่ 33.5-34.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ
EIC มองว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ และเป็นการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง เนื่องจากเป็นการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น ส่วนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน และ การปรับกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการลงทุน ยังต้องปรับอีกมาก คาดว่าในช่วงกลางปีหน้า มูลค่าทางเศรษฐกิจจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิด แต่จะต้องใช้เวลาอีก 2 ปีจึงจะกลับมาเติบโตอย่างมีศักยภาพ
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังมีรอบด้าน ทั้งราคาพลังงานที่ผันผวนในระดับสูงต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางของหลายประเทศพร้อมใจปรับขึ้นดอกเบี้ย เป็นการแตะเบรกเศรษฐกิจโลก ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามทิศทางของโลกแต่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าภายในปีนี้ ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้น 0.25% อีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 1.25% และปีหน้าจะปรับขึ้น 3 ครั้ง สู่ระดับ 2%
ส่วนการเลือกตั้งในปีหน้า มองว่าจะมีผลกับภาคเศรษฐกิจไม่มากนัก เนื่องจากเป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น การเชื่อมโยงจากภาครัฐมายังภาคเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องงบประมาณ ดังนั้นเมื่อมีการผ่านงบประมาณปี 2566 ไปแล้วเชื่อว่าการเมืองจะไม่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจมาก