กระทรวงพาณิชย์ จัดทัพหลักสูตรสุดเข้มข้นโดยวิทยากรและผู้บริหารชั้นนำ ร่วมปั้น Gen Z สู่การเป็น CEO

กระทรวงพาณิชย์ จัดทัพหลักสูตรสุดเข้มข้นโดยวิทยากรและผู้บริหารชั้นนำ ร่วมปั้น Gen Z สู่การเป็น CEO

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบัน NEA (สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่) เดินหน้าสานฝันคนรุ่นใหม่ภายใต้โครงการ From Gen Z to be CEO ประจำปี 2566 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยจัดหลักสูตรอบรมสุดเข้มข้น รวม 6 หลักสูตร ถ่ายทอดผ่านวิทยากรมากความสามารถ ล้วนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ เพื่อร่วมส่งต่อประสบการณ์ สร้างแรงบันดาลใจ เสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้พร้อมก้าวสู่การเป็น CEO ที่สามารถต่อยอดสู่การค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า “หลักสูตรของโครงการ From Gen Z to be CEO ปีนี้ มีทั้งหมด 6 หลักสูตร มีเป้าหมายสำคัญคือการปูเส้นทางให้เด็กรุ่นใหม่ไปสู่การเป็นผู้ประกอบการในประเทศ และต่อยอดสู่การทำการค้าระหว่างประเทศ ฉะนั้นแล้วหลักสูตรต่าง ๆ จึงได้ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างถี่ถ้วนจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง อีกทั้งโครงการนี้ทำมาแล้ว 3 ปี ในทุกปีเราจะรับคำแนะนำจากผู้เรียนในรุ่นก่อน ๆ มาพิจารณาและนำมาปรับปรุงกระบวนการและเนื้อหาให้เหมาะสมมากที่สุด รวมถึงการคัดเลือกวิทยากรอย่างพิถีพิถันที่เราเน้นว่าเป็นผู้ประกอบการตัวจริง มีประสบการณ์จริง เคยผ่านอุปสรรคต่าง ๆ และประสบความสำเร็จมาแล้ว มาถ่ายทอดแนวคิดและวิธีการให้กับผู้เรียน ซึ่งก่อนการสอนวิทยากรทุกท่านก็จะต้อง workshop ร่วมกับกรม เพื่อสร้างความเข้าใจและทราบเป้าหมายที่แท้จริงของโครงการ พร้อมทั้งเข้าใจบริบทของผู้เรียนในพื้นที่ที่แตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่การยกตัวอย่างหรือ case study ที่ใกล้ตัว และให้ผู้เรียนได้มองเห็นภาพ

กรมการขนส่งทางราง สร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางให้น้องๆ บ้านมหาเมฆ พาขึ้นรถไฟฟ้าสายสีเหลืองก่อนใคร

โดยเริ่มจากหลักสูตรแรก คือ “ประสบการณ์จาก CEOs สู่แรงบันดาลใจ”

เราให้ความสำคัญกับหลักสูตรนี้มาก เพราะเชื่อว่า การสร้างแรงบันดาลใจ ถ้าเราจุดติด จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพาไปถึงจุดหมาย ฉะนั้นวิทยากรสำหรับหลักสูตรนี้ จึงต้องเฟ้นหาผู้ที่เหมาะสม เราจะดูก่อนว่าผู้รับสารในแต่ละครั้งคือใคร เช่น ในพื้นที่ภาคเหนือหรือใต้ มีอะไรเป็นเทรนด์ เป็นที่สนใจของคนในพื้นที่นั้น นำสิ่งใกล้ตัวมายกตัวอย่าง ให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเข้าถึงได้ เป็นคนในกระแส และจับต้องได้ วิทยากรในหลักสูตรนี้จึงมีความหลากหลายมากที่สุด และสำคัญคือต้องเป็นคนที่มีทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์จริงที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์การลองผิดลองถูก ปัญหา อุปสรรค และจุดเปลี่ยนที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ทั้งแบรนด์ระดับประเทศอย่างคุณนาฑีรัตน์ บุญรัตน์ บริษัท Food Passion ผู้บริหารร้านอาหารบาร์บีคิวพลาซ่า, คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช ผู้บริหารสุกี้ตี๋น้อย ผศ.ดร.คณน ไตรจันทร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ชาพะยอม, คุณวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHULADA, คุณพีท-คุณพอท มิตรดนัย สถาวรมณี ผู้ก่อตั้ง CORO Brothers Co., Ltd., และ Plante เป็นต้น

ต่อเนื่องที่หลักสูตรที่ 2 “ขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ: Road to Entrepreneurs”

เป็นการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบบริษัท เพื่อให้รู้จุดเริ่มต้นก่อนที่จะเป็นผู้ประกอบการต้องทำอะไรบ้าง ตั้งแต่การจดทะเบียนบริษัท การบัญชีและการเงินเบื้องต้นสำหรับธุรกิจ วิธีทำการค้าภายในประเทศ

หลักสูตรที่ 3 “ความรู้เบื้องต้นเรื่อง Logistics และ Supply Chain”

โดยให้ผู้เรียนได้เข้าใจว่า เมื่อเราทำการส่งออก เราต้องมองหาช่องทางการส่งออก มีช่องทางไหนทั้งขนส่งทางบก ทางเรือ ทางอากาศ ขั้นตอนการส่งออกสินค้า การตั้งราคาและบริหารต้นทุนเพื่อการส่งออก รวมไปถึงปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก ปัญหาและอุปสรรคของการส่งออกผ่านกรณีศึกษา โดยมีวิทยากรคือ คุณปณต บุณยะโหตระ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยในตลาดสำคัญๆ มามากกว่า 30 ปี

หลักสูตรที่ 4 “การวิเคราะห์การค้าระหว่างประเทศ”

ได้วิทยากรอย่าง ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญการตลาดจีน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน อดีตอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงปักกิ่ง และอดีตกงสุล (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ นครเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้สอน หลักสูตรนี้จะช่วยให้ผู้เรียนมองเห็นภาพองค์รวมของการส่งออก เทรนด์ของโลกในปัจจุบัน รวมไปถึงเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่มีผลต่อการส่งออก เพื่อให้ผู้เรียนได้ตระหนักว่า ไม่ใช่แค่เราอยากขายอะไร ก็ส่งออกได้ แต่ต้องรู้ว่าสินค้าเราเหมาะกับตลาดไหน และเข้าใจสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ด้วย ว่าหากส่งสินค้าไปขายประเทศนี้ สินค้าอะไรจะได้รับความนิยม เป็นต้น

ในหลักสูตรที่ 5 “การตลาด E-commerce และแพลตฟอร์มออนไลน์”

บรรยายโดยวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ คุณนพดา อธิกากัมพู เจ้าของธุรกิจกระเทียมดำภายใต้แบรนด์ B-Garlic มีประสบการณ์ด้านการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ในการขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศ และได้รับรางวัล PM Export Award 2021 คนที่ 2 คุณธเธียร อนุจรพันธ์ Head of Strategic Partnership & Business of Amazon Global Selling Thailand หนึ่งในหน่วยธุรกิจของ Amazon ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการทั่วโลกขยายฐานการค้าสู่ตลาดต่างประเทศ ผ่านการสร้างแบรนด์เพื่อยกระดับสู่สากล และการเข้าถึงลูกค้าที่ซื้อสินค้าบนมาร์เก็ตเพลสของ Amazon ทั่วโลก และคุณเจริญ หิรัญตระกูล Partnership Manager, Payoneer Inc. ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดหาโซลูชั่นสำหรับธุรกิจ B2B และอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซผ่านแพลตฟอร์มการชำระเงินระดับโลกที่เชื่อถือได้ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่นำประสบการณ์ตรงของผู้ส่งออกตัวจริงมาถ่ายทอดเป็น case study ให้ผู้เรียนได้เห็นภาพตั้งแต่เรื่องการส่งออก จนถึงแนะนำแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่สามารถทำให้การส่งออกง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น

หลักสูตรที่ 6 “แนวคิดการทำธุรกิจสู่สากล: Internationalization”

เป็นหลักสูตรใหม่ของปีนี้ จากคำแนะนำจาก คุณปณต บุณยะโหตระ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคุณอดุลย์ โชตินิสากรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ซังโกะ ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และอดีตทูตพาณิชย์ในหลากหลายประเทศ ทั้งสองท่านเป็นที่ปรึกษาของโครงการ ซึ่งท่านได้มองเห็นความสำคัญของคำว่า Internationalization เพื่อเชื่อมโยงธุรกิจเข้ากับโลก มองความเป็นสากล มองให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก การตระหนักถึงพลังของ Soft Power ในการขยายอิทธิพลและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน เรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่โอกาสการเปิดธุรกิจในต่างประเทศ จึงถือได้ว่าเป็นหลักสูตรที่จะจุดประกายความคิดให้ผู้เรียน ให้สามารถต่อยอดธุรกิจของตนเองในอนาคตต่อไปนั่นเองค่ะ

และนี่คือทั้ง 6 หลักสูตรของ โครงการในปีนี้ ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอยากสนับสนุนและปูเส้นทางให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และบุคคลทั่วไปเข้ามาร่วมโครงการ โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐาน เพียงแค่มีความตั้งใจอยากทำธุรกิจเป็นของตนเอง มารับฟังแนวคิดและวิธีการเพื่อให้เกิดไอเดียนำไปประยุกต์กับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับคนที่ยังไม่มีสินค้า ก็สามารถเรียนได้ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ และนำความรู้ที่ได้มาเริ่มต้นธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งหากเรียนจบจากโครงการนี้ไป สถาบัน NEA ก็ยังมีโครงการเสริมความรู้ด้านอื่น ๆ รองรับ พร้อมให้คำแนะนำกับผู้ที่สนใจอีกด้วย นางอารดา เฟื่องทอง กล่าวเสริม

โดยหลังการอบรมจะมีการสอบประเมินผล เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ได้คะแนนสูงสุดหรือผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด มาต่อยอดพัฒนาศักยภาพและปั้นให้เป็นผู้ประกอบการที่มีความพร้อม สำหรับผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 500 ลำดับแรก จะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมอบรมโครงการต่างๆ ที่จัดขึ้นโดยสถาบัน NEA และ 100 ลำดับแรก จะได้รับสิทธิ์ในการพิจารณาเข้าร่วมฝึกงานกับองค์กรระดับประเทศ อาทิ True/ Huawei/ Bitkub/ EXIM Bank/ P&G/ SPVi/ DHL/ SVOA/ BOL รวมถึงสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ที่ตั้งอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและพันธมิตรของโครงการ และที่สำคัญ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดของประเทศ จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็น Gen Z Ambassadors พร้อมรับสิทธิพิเศษและรางวัลมากมายจากพันธมิตร โดยทำหน้าที่ส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่และประชาสัมพันธ์โครงการในปีต่อๆ ไป

ที่สุดของโอกาส ที่สุดแห่งการเป็น CEO อาจเป็นคุณ”กระทรวงพาณิชย์พร้อมเดินหน้าปั้น Gen Z รุ่นที่ 4 สู่การเป็น CEO ตัวจริง ภายใต้โครงการ From Gen Z to be CEO” ผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรมสามารถสมัครได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ – มิถุนายน 2566 ได้ที่ https://fromgenztobeceo.com หรือติดตามกิจกรรมได้ที่ Facebook : https://www.facebook.com/nea.ditp/

Scroll to Top