นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง (Latkrabang Inland Container Depot : ICD) พร้อมทั้งสำรวจสภาพจราจรและถนนที่ชำรุดบริเวณทางเข้า ICD ลาดกระบัง จากนั้นเดินทางต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อสำรวจภาพรวมการขนส่งสินค้าทางรถไฟภายในท่าเรือแหลมฉบัง และรับฟังปัญหาอุปสรรคการขนส่งในพื้นที่ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) โดยมีนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เรือโท ยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และนายกฤษดา อุดมโภชน์ ผู้อำนวยการ SRTO ให้การต้อนรับ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหา และเพิ่มศักยภาพในการให้บริการขนส่งสินค้าทางรางในเส้นทางสายตะวันออก โดยเฉพาะสินค้าที่ย่านท่าเรือแหลมฉบัง ให้สามารถรองรับความต้องการของภาคธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมการนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังให้มีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งระหว่างกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งถือเป็นเส้นทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้
ยังเป็นการสนับสนุนมาตรการในการแก้ปัญหาความแออัดของท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์พลังงาน ให้เป็นไปตามแผนเพิ่มประสิทธิภาพการค้าและการลงทุนของประเทศอีกด้วย
ปัจจุบันขบวนรถขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ทางรางในเส้นทาง ICD ลาดกระบัง – ท่าเรือแหลมฉบัง -ICD ลาดกระบัง ที่ท่า SRTO มีจำนวน 24 ขบวนต่อวัน (ไป-กลับ) มีปริมาณการขนส่งสินค้าในปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 465,329 TEUs หรือคิดเป็นจำนวน 8,622 ขบวน สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาการขนส่งในพื้นที่ SRTO ที่ยังติดปัญหาขบวนรถสินค้าล่าช้า โดยให้ประสานผู้ที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไขให้ตรงจุด อาทิ ปัญหาด้านการยกขนขึ้นลงและหมุนเวียนแคร่ เป็นต้น โดยการรถไฟฯ ตั้งเป้าเพิ่มเที่ยวขบวนรถขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ทางรางในเส้นทาง ICD ลาดกระบัง – ท่าเรือแหลมฉบัง – ICD ลาดกระบัง จาก 24 ขบวนต่อวัน (ไป-กลับ) เป็น 30 ขบวนต่อวัน (ไป-กลับ)
สำหรับสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง สร้างขึ้นตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้มีการเวนคืนที่ดินในเขตลาดกระบังเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 เพื่อก่อสร้างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2537 และเปิดดำเนินการ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2539 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าในการขนส่งสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ โดยตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 645 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สัมปทาน 380 ไร่ และพื้นที่ส่วนกลาง 265 ไร่ มีการออกแบบให้สามารถรองรับตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 600,000 TEUs/ปี
“ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าทางรางมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน ปลอดภัย และคุ้มค่า เพราะสามารถขนส่งได้ครั้งละจำนวนมากกว่าทางถนนหลายเท่าตัว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางเรือและทางรางเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน” ผู้ว่าการรถไฟฯ กล่าวทิ้งท้าย
นายวีริศ กล่าวด้วยว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ ยังถือโอกาสไปตรวจเยี่ยมรถไฟคิฮะ (Kiha) 40 และ คิฮะ 48 จำนวน 20 คันด้วย ซึ่งได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งประธานตรวจรับเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนจากนี้อยู่ระหว่างรอประธานแจ้งให้ผู้รับจ้างทำแผนมาเสนอในเรื่องของกรอบเวลา ส่วนเรื่องจะดำเนินการปรับหรือไม่อย่างไรนั้น คงต้องรอประธานเป็นผู้สรุป อย่างไรก็ตาม จะเร่งรัดให้รีบทำแผนมาเสนอโดยเร็วที่สุด ส่วนการรถไฟฯ ก็จะเร่งดำเนินการบีบล้อ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 30-45 วันต่อโบกี้ เมื่อแล้วเสร็จก็จะนำเข้าไปตรวจสอบและประกอบที่โรงงานมักกะสันตามขั้นตอนต่อไป