โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการศึกษา รวบรวม ประมวลมาตรฐานสากลและกรณีศึกษาด้านการขนส่งทางรางจากประเทศต่างๆ อาทิ Comet and Nova, EN 13816, International Transport Forum (ITF), Platform of Railway Infrastructure Managers in Europe (PRIME), Rail Net Europe (RNE), กรณีศึกษาจากประเทศต่างๆ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับบริบทประเทศไทย
ประกอบศึกษาเสนอตัวชี้วัดในการกำกับประสิทธิภาพระบบขนส่งทางราง รวม 7 ด้าน ประกอบด้วย 1) ประสิทธิภาพด้านระบบ 2) ประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ 3) ประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรบุคคล 4) ประสิทธิภาพด้านดำเนินงาน 5) ประสิทธิภาพด้านการเงิน 6) ประสิทธิภาพด้านการบริการ และ 7) ประสิทธิภาพการจัดการด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (Environmental Occupational Health and safety Management)
โดยมีการบูรณาการและการมีส่วนร่วมจากกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานในระดับนโยบายและแผน ผู้ประกอบการขนส่งทางรางทุกระบบ ภาคประชาชน สถาบันและสมาคมวิชาชีพด้านการขนส่ง รวมทั้งการเก็บรวบรวมความเห็นและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการขนส่งทางราง เพื่อประกอบการดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว โดยสามารถสรุปผลลัพธ์ของโครงการที่สำคัญ 3 ข้อ ดังนี้
- ตัวชี้วัดในระดับกำกับ หรือ Regulatory Indicator (RI) จำนวน 19 ตัวชี้วัด และการกำหนดค่าเป้าหมายของตัวชี้วัด ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล ประเมินผลและติดตามการประกอบกิจการระบบขนส่งทางรางครอบคลุมทุกประเภท ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง ระบบรถไฟระหว่างเมืองและรถไฟขนส่งสินค้า รวมทั้งระบบรถไฟฟ้าในภูมิภาคและรถไฟความเร็วสูง
- ระบบการจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดในรูปแบบ Dashboard ที่ออกแบบโดยมีแนวคิด ให้มีความสะดวก ง่ายต่อการใช้งานของกรมการขนส่งทางรางในการกำกับ ติดตามและประเมินผลประสิทธิภาพในแต่ละด้าน และไม่เป็นภาระต่อหน่วยงานผู้ให้บริการขนส่งทางรางในการนำเข้าข้อมูล
- ผลการประเมินคุณภาพสถานี ภายใต้กิจกรรมการประกวดสถานีดีพร้อม ภายใต้กิจกรรม “กรมรางสร้างสุข… ด้วยคุณภาพดีพร้อม” “DRT creates happiness of stations”
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางจะใช้ตัวชี้วัดระดับกำกับ หรือ Regulatory Indicator (RI) ทั้ง 19 ตัวดังกล่าว ที่ใช้ในการวัดผลการประกวด มาดำเนินการตรวจสถานีทั้งรถไฟระหว่างเมือง และรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมืองทุกสถานี เพื่อเป็นเกณฑ์ในการประเมินการให้บริการ คุณภาพสถานี และอื่นๆ โดยจะมีการใช้ระบบ Dashboard ในการกำกับดูแลติดตามและประเมินผลการดำเนินการของผู้ประกอบการขนส่งทางรางทุกระบบ ให้สามารถจัดส่งข้อมูลต่างๆ ที่มีผลต่อการใช้บริการของประชาชน หากสถานีไหนขาดตกบกพร่องประการใด ทางกรมการขนส่งทางรางจะมีการส่งหนังสือ เพื่อให้ผู้ให้บริการปรับปรุงในเรื่องต่างๆ เพื่อเป็นการยกระดับและส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยสู่มาตรฐานระดับสากล เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางราง ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลซึ่งมุ่งพัฒนาให้ระบบขนส่งทางรางเป็นระบบการเดินหลักของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ