นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วย นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแล ติดตามตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (คตป.) ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบมาตรการความปลอดภัย การจัดการจราจร และมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำให้ รฟม. กำกับการดำเนินงานของผู้รับสัมปทาน/ผู้รับจ้างอย่างเคร่งครัดเสมอมา
โดย รฟม. และ คตป. ได้ลงตรวจสอบการดำเนินงานในพื้นที่ก่อสร้างสถานี MT01 เมืองทองธานี ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี เพื่อติดตามการแก้ไขกรณีเกิดเหตุปูนเหลวร่วงใส่รถยนต์ของผู้สัญจรทางถนน ซึ่งผู้รับสัมปทานได้ถอดบทเรียนและจัดทำมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำแล้ว อาทิ การติดตั้งตาข่ายแบบ Protection กันวัสดุร่วงหล่น 2 ชั้น พร้อมผ้าใบกันน้ำคอนกรีต การจัดให้มีผู้เฝ้าระวังและทีมฉุกเฉินด้านล่างขณะปฏิบัติงาน ฯลฯ จากนั้นจึงเดินทางต่อไปตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ ช่วงสถานีราษฎร์บูรณะ – สถานีพระประแดง บริเวณถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยเน้นตรวจสอบการทำงานบนที่สูง การติดตั้งแผ่นรองขาเครน ราวกันตก บันไดขึ้นลงที่มีราวจับมั่นคง การยึดติดโครงสร้างนั่งร้าน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความมั่นคง แข็งแรงและปลอดภัยต่อทั้งผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้เส้นทาง
นายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม. ได้เน้นย้ำให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา และผู้รับสัมปทาน/ผู้รับจ้างงานโยธาของทั้งสองโครงการ ตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมมาตรฐานในงานก่อสร้างด้วยความปลอดภัยสูงสุด โดยกำชับให้ทั้งสองโครงการมีการควบคุมคุณภาพของวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ใช้ รวมถึงจัดฝึกอบรมและกำกับการทำงานในทุกขั้นตอนของผู้ปฏิบัติงานทุกคน ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ข้อกำหนดตามสัญญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ล้วนเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในแนวถนนสาธารณะ หากเกิดเหตุที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในส่วนใดส่วนหนึ่ง ย่อมจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อโครงการในภาพรวมได้
โดยหลังจากที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพหน้างาน นายวิทยาฯ ได้กำชับเพิ่มเติมสำหรับการจัดการจราจรของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายฯ ขอให้ผู้รับสัมปทานคำนึงถึงทัศนวิสัยของผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีความแตกต่างกันระหว่างกลางวันและกลางคืนด้วย การปิดเบี่ยงจราจรในเวลากลางคืน ควรมีการเพิ่มสัญญาณไฟ แสงสว่างให้เพียงพอต่อการสังเกตเห็นได้ในระยะที่เหมาะสม และได้มีการซักถามถึงระบบการอนุญาตให้ทำงาน (Permit to Work) รายการตรวจสอบประจำวัน (Daily Checklist) ตลอดจนลำดับการรายงานกรณีเกิดอุบัติเหตุ (Emergency Call) ที่ใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกัน และบูรณาการการทำงานร่วมกันได้อย่างดีต่อไป
ปัจจุบัน รฟม. ได้มีการกำกับดูแลติดตามตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่อยู่ในความรับผิดชอบ ผ่านทาง คตป. ซึ่งมีองค์ประกอบของคณะกรรมการครอบคลุมทั้งผู้บริหารและผู้รับผิดชอบควบคุมงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของ รฟม. กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา และบริษัทผู้รับสัมปทาน/ผู้รับจ้างงานโยธา ทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสามารถร่วมมือกันในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในทุกระยะ และมีความคล่องตัวในการพิจาณาปรับแก้ไขเชิงนโยบายหรือการกำหนดมาตรการเพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด นอกจากนี้ รฟม. ยังมีคณะทำงานย่อยที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานก่อสร้างเป็นประจำทุกเดือน ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน อาทิ คณะเจ้าหน้าที่โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ (Project Team) ทำหน้าที่ตรวจสอบความคืบหน้า การดำเนินงาน เจ้าหน้าที่สำนักงานความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้าง เจ้าหน้าที่กองสิ่งแวดล้อม ฝ่ายพัฒนาโครงการ ทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก่อสร้าง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานการกำกับควบคุมงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของ รฟม. ให้แก่สาธารณชน ติดตามข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ของโครงการฯ เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.mrta-purplelinesouth.com เฟซบุ๊กแฟนเพจโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ และ Line @mrtpurpleline รวมถึงติดตามข้อมูลข่าวสาร รฟม. เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทรศัพท์ 0 2716 4044