รฟม.รับ รมช.คมนาคม ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) บริเวณสถานีสามยอด สถานีวงเวียนใหญ่ และสภาพการจราจรบนเส้นทางถนนพระปกเกล้า – สะพานพุทธ โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะผู้บริหาร รฟม. ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปภาพรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ

ในโอกาสนี้ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ได้นำรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ตรวจเยี่ยมบริเวณสถานีสามยอด ซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ที่ในอนาคตจะใช้เป็นสถานีเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีงานก่อสร้างหลัก ได้แก่ งานก่อสร้างผนังสถานีใต้ดิน (Guide Wall) ของสถานีสามยอด เป็นต้น จากนั้นได้นำคณะเดินทางไปตรวจสภาพการจราจรบนเส้นทางสะพานพระปกเกล้า – สะพานพุทธ ที่มีการปิดเบี่ยงจราจรเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ และพื้นที่ก่อสร้างสถานีวงเวียนใหญ่ ซึ่งเป็นสถานีใต้ดินใกล้กับวงเวียนใหญ่ ในแนวถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีงานก่อสร้างหลัก ได้แก่ งานก่อสร้างผนังสถานีใต้ดิน (Diaphragm Wall) ของสถานีวงเวียนใหญ่ เป็นต้น ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีความคืบหน้าในภาพรวมร้อยละ 18.68 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566

ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการให้ รฟม. ดำเนินมาตรการลดผลกระทบด้านการจราจร ดังนี้

  1. ให้ใช้พื้นผิวจราจรสำหรับกิจกรรมก่อสร้างเท่าที่จำเป็น และไม่กระทบต่อการสัญจรของประชาชนหรือให้กระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถคืนผิวจราจรได้ในเดือนสิงหาคม 2567 และดำเนินการในส่วนโครงสร้างใต้ดินต่อไป
  2. จุดที่มีการรื้อสะพานลอย ให้จัดทำจุดข้ามทางม้าลายทดแทน และจัดเจ้าหน้าที่อาสาจราจรทำหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
  3. จัดเรียงแบริเออร์ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่กีดขวางการสัญจรของประชาชน และติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ ป้ายเตือน ไฟส่องสว่างต่าง ๆ ให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน
  4. ในกรณีที่มีปัญหาจราจรติดขัดหรือเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน ให้มีการประสานบูรณาการทำงานร่วมกับตำรวจจราจรในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อจัดการจราจรและบรรเทาผลกระทบให้แก่ประชาชน
  5. ดำเนินการเยียวยาประชาชนที่อยู่ตามแนวสายทางก่อสร้างโครงการฯ ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ การช่วยประชาสัมพันธ์ร้านค้าในแนวสายทางโครงการ เป็นต้น

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร สถานีใต้ดิน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร สถานียกระดับ 7 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และ MRT สายสีน้ำเงิน ตามแผนงานคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571 ทั้งนี้ เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ จะเป็นการขยายเส้นทางและพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ โดยจะเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงพื้นที่และรองรับการเดินทางเชื่อมต่อของประชาชนในแนวเหนือ – ใต้

จากพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในไปยังพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ ช่วยเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบขนส่งมวลชนหลัก เพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน ตลอดจนช่วยลดมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมจากการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลงได้ สามารถติดตามข่าวสาร รฟม. ได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และ เฟซบุ๊กแฟนเพจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044 “รฟม. ร่วมยกระดับเมืองด้วยโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและนวัตกรรม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”


Scroll to Top