จากกรณีเรื่องของโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมเจ้าท่า เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ เพื่อทำการตรวจสอบการดำเนินการอย่างละเอียด และให้รายงานผลการตรวจสอบต่อสาธารณชน ให้เกิดความกระจ่างในประเด็นดังกล่าว
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบและรอบด้าน ทั้งในประเด็นเรื่องของความเหมาะสม ของขอบเขตงานและราคากลาง รวมถึงความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
- รายละเอียดโครงการ
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้มีการจัดจ้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีตามที่ได้รับพระราชทานนาม โดยวิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง มูลค่างาน 33,169,726.39 บาท โดยแบ่งงานออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1) งานโครงสร้างวิศวกรรม 2) งานสถาปัตยกรรม 3) งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ และ 4) งานเผื่อเลือก
/2. ผลการตรวจสอบ… - ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง
2.1 ความเหมาะสมของขอบเขตงานและราคากลาง
คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว มีประเด็นที่จะต้องตรวจสอบ
ในรายละเอียด 2 ประเด็น คือ (1) การกำหนดขอบเขตงานโดยอ้างอิงจากการดำเนินงานเดิมที่ผ่านมา และ
(2) การกำหนดราคากลางของคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตงานและกำหนดราคากลาง ในส่วนของค่าวัสดุ และค่าแรง ซึ่งมีที่มาจากการสืบราคาของที่ปรึกษา CSC ซึ่งมี ผลการตรวจสอบ สรุปได้ ดังนี้
(1) คณะกรรมการตรวจสอบฯ พิจารณาเอกสารหลักฐาน ตลอดจนการชี้แจงของ รฟท. ทั้งที่เป็นการชี้แจงด้วยวาจา และเอกสารประกอบการนำเสนอ สรุปได้ว่าการกำหนดขอบเขตงาน ซึ่ง รฟท. อ้างอิงแบบโครงสร้าง รายละเอียด เทคนิควิธีการ และวัสดุจากงานที่กำหนดไว้เดิม ไม่พบการดำเนินการที่เชื่อได้ว่า รฟท. ดำเนินการ นอกเหนือจากขอบเขตงานแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นไปตามรายละเอียดของงานติดตั้งป้ายเดิม
ที่ รฟท. ได้รายงานว่ามีการตรวจสอบและรับรองทางวิศวกรรม รวมทั้งมีการติดตั้งไปแล้ว ซึ่งปรากฏว่า มีความปลอดภัยและแข็งแรงตามมาตรฐาน ดังนั้น การกำหนดขอบเขตการดำเนินการ และการกำหนดราคากลางของ รฟท. ของการดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ
มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดย รฟท. อาจทบทวนเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ และประหยัดงบประมาณของ รฟท. ให้ได้มากที่สุด เช่น
1) รฟท. อาจทบทวนรายละเอียดทั้งในส่วนของวัสดุ เทคนิค ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้การออกแบบ เลือกใช้วัสดุ และวิธีการจัดทำ และติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่า หรือมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดทำ เทียบกับติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งก่อน ทบทวนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และจำนวนและเวลาที่ใช้งานของกระเช้าอีกครั้ง
2) รฟท. อาจพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” ที่ติดตั้งอยู่ในปัจจุบัน มาปรับปรุงเพื่อใช้ติดตั้งแทนที่จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากตัวอักษรยังอยู่ในสภาพยังดี และสามารถนำมาปรับปรุงเหมือนกับตัวอักษรใหม่ได้
3) รฟท. อาจทบทวนค่างานออกแบบ ที่น่าจะสามารถกำหนดอัตราส่วนของราคางานได้ต่ำกว่างานปกติ เนื่องจากเป็นงานที่ได้ออกแบบไว้เดิมอยู่แล้ว รวมทั้งการทบทวนงานเผื่อเลือก (Provisional Sum) ที่อาจสามารถปรับลดได้ เช่น การทบทวนความจำเป็นที่จะต้องมีวัสดุมาปิดไว้ทดแทนกระจกในขณะที่มีการรื้อถอน เนื่องจากงานดำเนินการในช่วงฤดูหนาว และอาคารสถานีบางส่วนเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกระจกอยู่แล้ว เป็นต้น
2.2 ความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง
การจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงในครั้งนี้ รฟท. ได้อ้างเหตุผลของการจ้างด้วยเหตุตามนัยมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไว้ว่าเป็น “การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้” คณะกรรมการตรวจสอบฯ จึงต้องพิจารณาตรวจสอบว่าการจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงของ รฟท. เป็นไปตามเหตุผล และหลักการของมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 หรือไม่ ซึ่งมีผลการตรวจสอบสรุปได้ ดังนี้
/คณะกรรมการ…
คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของ รฟท. ตามนัยมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 แม้จะเป็นการใช้ดุลยพินิจตีความระเบียบกฎหมายในกรอบอำนาจหน้าที่โดยอาศัยเหตุและผลความจำเป็นตามที่เข้าใจ และ รฟท. ได้ชี้แจงมาข้างต้นไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ก็สมควรหารือผู้เชี่ยวชาญด้านพัสดุกรมบัญชีกลางให้ชัดเจน นอกจากนี้ รฟท. ควรศึกษาทบทวนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม รอบคอบ และสอดคล้อง กับ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 โดยอาจพิจารณาแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักการของกฎหมาย ที่เห็นควรให้ใช้วิธีการพิจารณาเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปเป็นลำดับแรกก่อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นถึงความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของประชาชน นอกจากนี้ เห็นควรให้ รฟท. พิจารณาทบทวนตรวจสอบกระบวนการสืบราคาให้เกิดความครบถ้วนชัดเจน และดำเนินการให้สอดคล้องกับคู่มือแนวทางการประกาศรายละเอียดข้อมูลราคากลางและการคำนวณราคากลางเกี่ยวกับการขอจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0433.2/ว 206 ลงวันที่ 1 พ.ค. 2562 ตามขั้นตอนต่อไป