เราคงเคยได้ยินคำว่าสมาร์ทซิตี้ (Smart City) หรือ เมืองอัจฉริยะ กันอยู่บ่อยๆ โดยหลักการคือการพัฒนาพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลัก ทำให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ สร้างความสะดวกสบายและความมั่นใจให้คนในเมือง ซึ่งการสร้างสมาร์ทซิตี้ในแต่ละเมืองนั้นก็จะมีการวางแผน มีคอนเซ็ปต์ในการพัฒนาแต่ละเมืองแตกต่างกันไป โดยดูจากพื้นฐานเดิมของแต่ละเมือง
เช่นเดียวกับ Smart TOD (Smart Transit Oriented Development) เป็นการนำคอนเซ็ปต์ของสมาร์ทซิตี้มาทำในพื้นที่ที่เล็กลงรอบสถานีรถไฟ อยู่ในรัศมี 600 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร เพื่อพัฒนาพื้นที่รอบๆ ชุมชนให้มีความฉลาดมากขึ้น สร้างความสะดวกสบายและความสบายใจให้คนในพื้นที่
ให้ลองนึกภาพว่า หากเราเดินออกจากสถานีรถไฟที่อยู่ใกล้แหล่งช้อปปิ้ง มีร้านอาหารมากมาย และสามารถเช็คได้ว่าสถานที่ๆ เราจะไปอยู่ตรงไหน สามารถเดินไปได้ หรือหากต้องต่อรถสาธารณะจะต้องไปรอรถที่ไหน รถจะมาในอีกกี่นาที ใช้เวลาเดินทางเท่าไร ก็จะทำให้เราวางแผนการเดินทางได้ง่าย และไม่ต้องกังวลว่าจะหลงทาง
ซึ่งนี่เป็นเพียงแนวคิดหนึ่งที่จะทำให้พื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟฉลาดมากขึ้น คนใช้พื้นที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น
–ส่อง TOD “RISE CITY” แห่ง ฝูโจว กับการสร้างพื้นที่สีเขียวรอบสถานีรถไฟ
แต่เมื่อต้องลงมือทำจริง พัฒนาพื้นที่จริง จะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ซึ่งเว็บไซต์ BiztalkNews ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการวางโครงสร้างการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ
คุณไตรทิพย์ กล่าวว่า การพัฒนา Smart TOD ต้องเริ่มต้นจากการวางคอนเซ็ปต์ก่อนว่าจะพัฒนาพื้นที่รอบๆ ไปในรูปแบบใด คาแรกเตอร์ในพื้นที่มีอะไรอยู่บ้าง เช่น พื้นที่ที่มีโบราณสถาน ก็ต้องดูว่าจะอนุรักษ์หรือปรับโครงสร้างพื้นที่รอบข้างให้กลมกลืนกันอย่างไร
ต่อมาให้ดูความต้องการของชุมชนว่าคนในพื้นที่ต้องการอะไร เช่น สถานีรถไฟที่มีโรงพยาบาลใหญ่อยู่ในพื้นที่ จะสามารถปรับให้เป็น Smart Healthcare หรือศูนย์รวมสุขภาพ เพื่อตอบสนองชุมชนในบริเวณนั้นๆ ได้หรือไม่
จากนั้นจึงมาดูว่าจะเสริมอะไรเข้าไปเพื่อให้เกิดความสมาร์ทขึ้น สามารถนำเทคโนโลยีอะไรมาใช้ได้บ้างเพื่อลดปัญหาของคนในพื้นที่ เพิ่มความสะดวกสบาย และใช้งานได้จริง
สร้าง Smart TOD ให้ใช้ได้จริง
คุณไตรทิพย์ เน้นย้ำว่า การทำงานจริงนั้นต้องเกิดจากร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และคนในชุมชน เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจและเห็นด้วย เพราะหากพัฒนาไปโดยไม่ได้รับความร่วมมือก็จะเป็นปัญหา เพราะพื้นที่ของการรถไฟนั้นมีเพียงส่วนหนึ่ง แต่พื้นที่รอบข้างส่วนที่เหลือนั้นเป็นพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ ทั้งหมด
“เราจะต้องหาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีความรู้ เข้ามาร่วมมือกัน ถ้าไอเดียและคอนเซ็ปต์ได้ ทำออกมาแล้วใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ก็จะทำให้พัฒนาได้ง่าย”
นอกเหนือจากการร่วมมือของทุกฝ่ายแล้ว คุณไตรทิพย์ ยังมองว่าการสร้างพื้นที่รอบๆ ชุมชนให้เกิดประโยชน์จริงนั้นจะต้องประกอบด้วยปัจจัยพื้นฐาน 3 ปัจจัยนี้
1.เชื่อมต่อการเดินทางได้จริง
ช่วยให้การเดินทางจากสถานีรถไฟ ไปยังจุดหมายปลายทางต่อไปได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นการเดิน หรือการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ จะต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน ให้คนในพื้นที่เข้าถึงได้ง่าย
2.มีความปลอดภัย
มีระบบที่คอยดูแลเรื่องความปลอดภัยตลอด 24 ชม. เช่น กล้องวงจรปิดอัจฉริยะ ระบบเตือนภัย หรือรถฉุกเฉินกรณีเกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้ผู้สัญจรรู้สึกปลอดภัย สบายใจ เมื่อต้องเดินทางในพื้นที่
3.สร้างความยั่งยืน
คือเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียว การลดมลภาวะ และลดการใช้พลังงาน เช่น การนำรถ EV มาให้บริการ การใช้ Solar Roof ในอาคารที่สามารถติดตั้งได้เพื่อลดการใช้ไฟฟ้า
“สิ่งสำคัญ คือ ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง เข้าใจว่าสิ่งที่สร้างมามีประโยชน์ เพราะในหลายประเทศที่สร้างสมาร์ทซิตี้ มีเทคโนโลยีมากมาย แต่คนในพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งการสร้างพื้นที่อัจฉริยะคนจะต้องใช้งานได้จริง และได้เห็นประโยชน์จริงๆ จากการใช้งาน” คุณไตรทิพย์ กล่าวสรุป