การพัฒนา TOD (Transit-oriented Development) นอกจากจะช่วยเชื่อมโยงการเดินทางของคนได้อย่างสะดวก ปลอดภัยแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ การจัดสรรพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ผู้สัญจรได้รับประโยชน์ทั้งจากความร่มรื่นของร่มไม้ รวมถึงเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่รอบสถานีรถไฟ
สำหรับพื้นที่ในกรุงเทพฯ นั้นมีสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้กับสวนสาธารณะ เช่น “สวนลุม” อยู่ระหว่างรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 สถานี “สวนเบญจกิติ” อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 3 สถานี และ “สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)” อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 2 สถานี
แต่พื้นที่สีเขียวข้างต้นนั้นเป็นสวนสาธารณะที่มีรั้วกั้น มีเวลาเปิด-ปิด ตายตัว ทำให้ผู้เดินทางไม่สามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่สร้างมาก่อนจะเกิดสถานีรถไฟ ทำให้แตกต่างจากการออกแบบพื้นที่สีเขียวแบบ TOD ที่มีการวางโครงสร้างในภาพใหญ่ตั้งแต่เริ่มโครงการเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟในบริเวณใกล้เคียง
–รฟม. มั่นใจ การออกแบบสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT พร้อมรับมือปัญหาน้ำท่วมฉับพลันในกรุงเทพฯ
ซึ่ง Rise City ที่ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟใต้ดินเมืองฝูโจว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 200,000 ตารางเมตร เป็นสวนสาธารณะติดกับตัวสถานี และเป็นจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมสันทนาการของ คนในพื้นที่ เป็นหนึ่งในตัวอย่างการออกแบบพื้นที่สีเขียวให้รองรับกับ TOD
Rise City นั้นถูกออกแบบตามความต้องการของคนในพื้นที่ โดยเจาะกลุ่มไปที่วัยรุ่นที่มีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบการออกแบบ เช่น ทางเดินเข้าพลาซ่า ถูกออกแบบเป็นบันไดแบบวงแหวน โดยมีประติมากรรมน้ำตกอยู่ตรงกลาง ซึ่งการออกแบบยังคำนึงถึงการกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาด้วย
เมื่อขึ้นไปชั้น 2 จะพบทางเดินเชื่อมต่อกันเป็นเหมือนห้องนั่งเล่นแบบเปิดโล่งเพื่อให้สามารถชมสวนได้จากมุมด้านบน อ่านหนังสือ หรือนั่งพักผ่อนได้
สำหรับลานด้านล่าง ออกแบบให้เป็นพื้นที่สำหรับออกกำลังกายได้ มีเครื่องออกกำลังกายติดตั้งให้สำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีสนามทรายสำหรับเด็กเล็กอีกด้วย
และการที่ Rise City ถูกออกแบบเป็นสวนสาธารณะ สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้จึงเป็นพื้นที่สีเขียวที่ถูกออกแบบมาสำหรับเดินหรือนั่งผ่อนคลาย และยังเป็นพื้นที่ให้คนสามารถมาศึกษาพันธุ์ไม้ต่างๆ ได้อีกด้วย
จากตัวอย่างของ Rise City จะเห็นว่าการออกแบบพื้นที่สีเขียวแบบ TOD นั้นสามารถพัฒนาพื้นที่ทางเดินจากตัวสถานีรถไฟมาเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะให้คนได้สัญจรไปยังพื้นที่รอบข้างได้อย่างลงตัว คนเดินเท้าสามารถสัญจรได้ตลอดเวลา ไม่มีรั้วกั้นหรือเวลาเปิด-ปิด ของสถานที่ ขณะเดียวกันยังสามารถใช้เป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจากบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด