กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB เปิดเผยว่า ความมุ่งมั่นของบริษัท คือ การยกระดับระบบขนส่งมวลชนของไทย ให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ เป็นขนส่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ สะอาด ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหนึ่งในหลายประเทศที่มีลักษณะโครงสร้างการคมนาคมขนส่งใกล้เคียงกับประเทศไทย คือ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง ที่ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งรุดหน้าเป็นอย่างมาก หลายเมืองได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบข้อบังคับ ไปจนถึงการสนับสนุนจากทางภาครัฐ การร่วมมือกันของภาคเอกชน ส่งผลให้รูปแบบการขนส่งสาธารณะจากรถสันดาป ปรับเปลี่ยนมาสู่พลังงานสะอาด ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า(EV-Bus) เหมือนกับในประเทศไทย ของไทย สมายล์ บัส ที่เป็นรูปแบบรถเมล์พลังงานสะอาด ไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ ซีอีโอ ไทย สมายล์ บัส มองว่า ประเทศไทยสามารถนำโมเดลของไต้หวันมาพัฒนาต่อได้อีก นั่นคือการเชื่อมต่อโครงข่าย Single Network เหมือนกับระบบบัตรโดยสาร Easy Card, บัตร i-Pass ที่สามารถเชื่อมโยงระบบการใช้บริการได้ครบถ้วน รถ-เรือ-ราง ไล่เรียงตั้งแต่ รถไฟฟ้า Metro Taipei, Kaohsiung Metro & LRT, Metro Taiyuan, Metro Taichung, New Taipei Metro, รถไฟ Taiwan Railway,รถไฟความเร็วสูง, รถเมล์ EV Bus, รถรับส่ง Shuttle Bus, เรือเฟอร์รี่, รถแท็กซี่ ไปจนถึงบริการเช่าจักรยาน T-Bike และ You Bike
กลับกันในประเทศไทยของเรายังติดปัญหาไม่สามารถเชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายได้อย่างแท้จริงเสียที แม้ปัจจุบัน TSB มีการนำร่องเชื่อมต่อรถเมล์ไฟฟ้า กับเรือโดยสารไฟฟ้าในเครือเรียบร้อยแล้ว และพร้อมเปิดโต๊ะรับการพูดคุยกับผู้ประกอบการขนส่งทุกราย แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีข้อจำกัดอีกมาก ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของภาครัฐเข้ามาเป็นคนกลางในการดำเนินการประสานความร่วมมือกันทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายต่อพี่น้องประชาชนมากที่สุด
อีกมุมที่น่าสนใจของ “ไต้หวันโมเดล” กุลพรภัสร์ อธิบายเพิ่มว่า การต่อยอดบัตรโดยสาร HOP Card ให้สามารถใช้ชำระค่าสินค้า-บริการ ให้ได้เหมือนกับ Easy Card ของไต้หวัน ที่ใช้ซื้อของในร้านสะดวกซื้อ ใช้จ่ายค่าบริการร้านอาหาร สวนสนุก โรงแรม ขึ้นกระเช้าท่องเที่ยว พร้อมทั้งยังมีสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้บริการ
สำหรับสิทธิประโยชน์ในปัจจุบัน TSB มีสิทธิประโยชน์ เดลิ แมกซ์ แฟร์ (Daily Max Fare) แก่ผู้โดยสาร ไทย สมายล์ กรุ๊ป ที่ถือ HOP Card จ่ายค่าโดยสารสูงสุดเพียง 40 บาทต่อวัน เมื่อโดยสารรถหรือเรือ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือจะนั่งรถต่อเรือ เรือต่อรถ ชำระค่าโดยสารสูงสุดเพียง 50 บาทต่อวัน อย่างไรก็ตามหากภาครัฐและเอกชน สามารถเชื่อมโยงการเดินทางทั้งระบบได้ วันหนึ่งอาจเห็นภาพการเดินทางของประชาชนใช้รถสาธารณะมากขึ้น ใช้รถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าแล้วมีสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้บริการเพิ่มเติมเพื่อลดค่าครองชีพ ไม่ว่าจะเป็นส่วนลดด้านราคา ลดค่าแรกเข้า เป็นต้น
นอกจากการศึกษาโมเดลระบบการชำระเงินของไต้หวันแล้ว ล่าสุด บริษัทได้พัฒนาแอปพลิเคชัน TSB Go Plus เพิ่มฟังก์ชันให้หลากหลาย อาทิ ตรวจสอบเวลาเดินรถ เมื่อกำลังเข้าป้าย คำนวณระยะเวลาเดินทาง มากกว่านั้นยังมีระบบสำหรับผู้ลงทะเบียนบัตร HOP Card โดยเฉพาะ ให้สามารถเช็กประวัติการเดินทางย้อนหลัง ขึ้น-ลงที่ป้ายใด เวลากี่โมง พร้อมประเมินความพึงพอใจหรือร้องเรียนติชมพนักงานผู้ให้บริการ แล้วส่งข้อมูลตรงถึงฝ่ายปฏิบัติการได้ทันที ทำให้ปัญหาของผู้โดยสารจะได้รับการตรวจสอบ แก้ไขได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันแผนการพัฒนาแอปพลิเคชันในระยะต่อไปจะมีฟังก์ชันใหม่ๆ เข้ามาตอบโจทย์ผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น Personal AVM การแตะอัปเดตบัตรโดยสารด้วยเทคโนโลยี NFC จากสมาร์ทโฟน เป็นต้น
–ไทย สมายล์ บัส จัดรถแอร์เสริมทัพบริการ 14 เส้นทาง ทดแทนผู้ประกอบการรายเดิมหยุดวิ่ง