กรมเจ้าท่า ได้รับจัดสรรงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2566 ภายใต้แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ พ.ศ. 2561 - 2570 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วงเงินรวม 156.15 ลบ. เพื่อพัฒนาท่าเรือรองเรือรับสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) จำนวน 3 โครงการ ครอบคลุมทุกเส้นทาง การเดินเรือสำราญขนาดใหญ่ผ่านประเทศไทย ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทย และ อันดามัน ผลการศึกษามีความเป็นไปได้ในการพัฒนาท่าเรือใน 3 พื้นที่ ได้แก่ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่ และจังหวัดชลบุรี
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย กรมเจ้าท่า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานดูแลและพัฒนาท่าเรือที่เป็นท่าเรือเพื่อการโดยสารและท่าเรือขนส่งสินค้าทั่วประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาให้ท่าเรือ ที่เป็นจุดเชื่อมโยงการเดินทางขนส่งทางน้ำ ที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว สร้างเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ เป็นไปตามนโยบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงการท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพ
“แนวคิดในการพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่นี้ เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลางถึงระดับสูง ที่มีการใช้จ่ายเงินในการท่องเที่ยวจำนวนมาก สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศ และระบบเศรษฐกิจสูง การศึกษาฯ คำนึงถึงความเป็นไปได้ ที่จะพัฒนาให้มีท่าเรือต้นทาง (Home Port) ในประเทศไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยล่วงหน้า เพื่อที่จะลงเรือเริ่มต้นเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเล หรือขึ้นจากเรือเมื่อสิ้นสุดการเดินทางและท่องเที่ยวต่อในประเทศไทย ก่อนเดินทางกลับ พร้อมพัฒนาให้มีท่าเรือแวะพัก (Port of call) ที่จะเป็นท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ที่มีเส้นทางเดินเรือ ผ่านประเทศไทย ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทย และอันดามัน อันจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจท่องเที่ยว การบริการและธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดย่อม ไปถึงผู้ค้า ผู้ให้บริการรายย่อย การออกแบบท่าเรือจะนำเอาแนวคิดที่เป็นอัตลักษณ์ ของประเทศไทยและท้องถิ่นมาผสมผสาน เพื่อให้ท่าเรือมีความโดดเด่นเป็นแลนด์มาร์คแห่งท้องทะเลไทย” รองอธิบดี กรมเจ้าท่าฯ กล่าว
“เนื่องจากประเทศไทยมีธรรมชาติทางทะเลที่สวยงามติดอันดับโลก ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวบนฝั่งที่งดงาม หากแต่ยังไม่มีท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เหมาะสม มีสิ่งอำนวยความสะดวก ปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารลดเวลาในการขึ้น - ลง จากเรือ เพื่อให้มีเวลาในการท่องเที่ยวมากขึ้น ดังนั้น หากมีท่าเรือที่เหมาะสม จะช่วยดึงดูดให้เรือสำราญขนาดใหญ่ เข้ามาจอดเทียบ สร้างรายได้ให้กับประเทศ ดังที่กล่าวข้างต้น โดยการก่อสร้างท่าเรือ จะทำภายใต้พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562” รองอธิบดีกรมเจ้าท่าฯ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการพัฒนาท่าเรือเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งาน ทั้งด้านการค้า การขนส่ง การสัญจรทางน้ำ เชื่อมโยง กับระบบขนส่งอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทางน้ำ สร้างรายได้ให้ประเทศ กรมเจ้าท่า ได้เล็งเห็นแล้วว่า ก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด - 19 การท่องเที่ยวโดยเรือสำราญมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น สามารถ สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้มีการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ และ ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางท่องเที่ยวโดยเรือสำราญที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล สามารถ สร้างรายได้ให้ประเทศ กรมเจ้าท่า จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาฯ ให้ดำเนินการศึกษาทั้งในส่วนการศึกษาวิเคราะห์ คัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสม พร้อมศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ สถาปัตยกรรม วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 3 โครงการฯ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว โดยมีความคืบหน้าการดำเนินการในแต่ละโครงการฯ ดังนี้
- โครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญ ขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งจากผลการศึกษาเดิมพบว่าที่ตั้งที่เหมาะสม ของท่าเรือ ได้แก่ บริเวณแหลมหินคม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลงานสะสมถึงเดือนมิถุนายน 2565 ร้อยละ 80 อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ของโครงการร่วมลงทุนและ ร่างรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
- โครงการศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และสำรวจออกแบบ ท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน ได้ข้อสรุปผลการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมบริเวณอ่าวแหลมป่อง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยพัฒนาเป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) รองรับเรือขนส่งผู้โดยสารไม่เกิน 1,500 คน และเป็นท่าเรือแวะพัก ( Port of call) สำหรับรองรับเรือขนส่งผู้โดยสาร 3,500 – 4,000 คน ผลงานสะสม ถึงเดือนมิถุนายน 2565 ร้อยละ 50 อยู่ระหว่างการออกแบบท่าเรือ และกำหนดรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน
- โครงการศึกษาสำรวจออกแบบ ท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือราญขนาดใหญ่ (CruiseTerminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน ได้ข้อสรุปที่เหมาะสม ในการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ท่าเรือ เป็นลักษณะผสมผสาน (Hybrid) คือเป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) รองรับเรือขนส่งผู้โดยสาร ไม่เกิน 1,500 คน และ เป็นท่าเรือแวะพัก ( Port of call) สำหรับรองรับเรือขนส่งผู้โดยสาร 3,500-4,000 คน ผลงานสะสมถึงเดือนมิถุนายน 2565 ร้อยละ 60.00 โดย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบท่าเรือ และกำหนดรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างรายงานวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ เพื่อนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการฯ ต่อไป