การบินไทยเปิดเส้นทางบินใหม่ อิสตันบูล เริ่มบิน 1 ธ.ค.นี้

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 ธ.ค. 2566 นี้ การบินไทย เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-อิสตันบูล (ตุรกี) โดยทำการบินด้วยแอร์บัส A350-900 จำนวน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยตั้งเป้าผู้โดยสารใช้บริการในเส้นทางอิสตันบูลกว่า 70%

สำหรับอิสตันบูล ประเทศตุรกี จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้โดยสาร เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางระหว่างทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา สามารถเชื่อมต่อเที่ยวบินไปยังจุดหมายต่างๆ ได้ ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ในการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างตุรกีกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยุโรปตะวันออก ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศ อีกทั้งยังเป็นการกระจายฐานนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากประเทศตุรกีเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 85.3 ล้านคน มีขนาดมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 906 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่วนตลาดการบินในเส้นทางญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเส้นทางบินยอดนิยม มองว่า อุตสาหกรรมการบินประเทศญี่ปุ่นในภาพรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดญี่ปุ่นครองสัดส่วนมากถึง 20% ของเส้นทางที่การบินไทยที่ทำการบินทั้งหมด ขณะที่ยุโรป 30%, เอเชียใต้ (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย) 13%, เอเชียตะวันตก-ตะวันออกกลาง 10% และเส้นทางภายในประเทศ 27%

โดยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ตั้งแต่ ต.ค. 2566-มี.ค.2567 คาดการณ์ว่า เส้นทางญี่ปุ่นจะมีการเดินทางเพิ่มมากขึ้น การบินไทยจึงมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินรองรับปริมาณนักท่องเที่ยว รวม 6 เส้นทาง ประกอบด้วย กรุงเทพ-ซัปโปโร เพิ่มจาก 5 เที่ยวบิน เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ , กรุงเทพฯ-โตเกียว (นาริตะ) และ กรุงเทพ-โตเกียว (ฮาเนดะ) ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน , เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-นาโกยา ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน , เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-โอซากา ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 14 เที่ยวบิน , เส้นทางไป-กลับ กรุงเทพฯ-ฟุกุโอกะ ทำการบินทุกวัน สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าความต้องการของชาวญี่ปุ่นที่จะเดินทางมายังประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นได้รณรงค์ให้ชาวญี่ปุ่นเดินทางไปยังต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายมากขึ้นแล้ว ซึ่งประเทศไทยถือเป็นจุดมุ่งหมายอันดับต้นๆ สำหรับชาวญี่ปุ่น เพื่อเดินทางไปพักผ่อนหรือติดต่อเจรจาธุรกิจ

ส่วนเส้นทางบินจีน หลังจากรัฐบาลได้ประกาศยกเว้นวีซ่า ให้นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้าประเทศไทย มีผลตั้งแต่ 25 กันยายน 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 การบินไทยมองว่า ส่งผลให้ยอดจองใน แพลตฟอร์มต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดี โดยผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็น นักท่องเที่ยวแบบเดินทางคนเดียว (FIT) และมีแนวโน้มจะเป็นผู้โดยสารที่มีอายุน้อยเดินทาง ส่วนนักท่องเที่ยวลักษณะกลุ่มใหญ่ (Charter และ GIT) ที่จะเดินทางมาจากเมืองรองเป็นส่วนใหญ่ ยังมีไม่มากนัก คงต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อไปอีกสักระยะ ทั้งนี้การบินไทยประเมินว่า เส้นทางบินจีน จะมี Cabin Factor โดยเฉลี่ยในช่วง ไตรมาส 4 (OCT-DEC) อยู่ที่ 70-75%

สำหรับการบินไทย กำลังจะเพิ่มเที่ยวบินเส้นทางบินจีน ในเส้นทาง

-ปักกิ่ง จาก 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

-เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

-คุนหมิง จาก 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

-เฉิงตู จาก 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

ส่วนความคืบหน้าการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยการบินไทยควบรวม บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด (ไทยสมายล์) โดยระบุว่า ภายใน ม.ค. 2567 จะไม่มีเที่ยวบินที่เป็นโค้ด WE ซึ่งเป็นโค้ดของสายการบินไทยสมายล์ อีกต่อไปแล้ว โดยจะปรับเป็นโค้ด TG ของสายการบินไทยทั้งหมด ซึ่งขณะนี้การบินไทย ได้รับโอนเครื่องบินของไทยสมายล์ โดยเป็นเครื่องบินแบบ แอร์บัส A320 มาแล้ว 4 ลำ เหลืออีก 16 ลำ ซึ่งคาดว่าจะครบ 20 ลำภายใน ม.ค. 2567 รวมทั้งทยอยโอนนักบินและลูกเรือและจุดบินมาด้วย

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน การบินไทยได้เริ่มทำการบินในเส้นทางระหว่างประเทศของไทยสมายล์แล้ว 8 เส้นทาง ได้แก่ ย่างกุ้ง ธากา เวียงจันทน์ พนมเปญ อาห์เมดาบัด เกาสง ปีนัง และกัลกัตตา ขณะนี้ยังเหลือเส้นทางบินไปยังประเทศเวียดนามอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ ฮานอย โฮจิมินห์ และจะเริ่มเปิดทำการบินไปยังเส้นทางกาฐมาณฑุ ในวันที่ 1 ธ.ค. 2566

ในส่วนเส้นทางภายในประเทศของไทยสมายล์นั้น การบินไทยจะทยอยทำการบินเส้นทางในประเทศรวม 9 เส้นทาง ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี กระบี่ หาดใหญ่ นราธิวาส และเส้นทางภูเก็ต 1 เที่ยวบิน จะเริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 777-200ER เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวจากนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาล

สำหรับแผนการจัดหาฝูงบินของการบินไทยนั้น ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบิน 76 ลำ ซึ่งในจำนวนดังกล่าว รวมการโอนฝูงบินของไทยสมายล์ จำนวน 20 ลำแล้ว ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย จะต้องจัดหาให้ครบ 95 ลำ ภายในปี 2570 ขณะเดียวกัน จะมีเครื่องบินที่กำลังจะหมดสัญญาเช่า จำนวน 5 ลำ (โบอิ้ง 777-200ER) การบินไทยจึงจะต้องมีการจัดหาอีกประมาณ 14 ลำ ซึ่งจะเป็นการเช่า โดยในเบื้องต้นอาจจะเป็นเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER, โบอิ้ง 787, แอร์บัส A350 หรือแอร์บัส 330

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า สถานการณ์ตลาดในขณะนี้ แต่ละสายการบินต่างก็หาเครื่องบินไกลขนาดใหญ่ลำตัวกว้างไว้รองรับความต้องการของผู้โดยสารอนาคต ส่งผลให้กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละสายการบิน โดยคาดการณ์ว่า การจัดหาฝูงบินจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และเพียงพอในอุตสาหกรรมการบิน โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 ปี

นอกจากนี้ กรณีการคืนหนี้ตั๋วโดยสารให้กับผู้โดยสารการบินไทยตามแผนฟื้นฟูกิจการที่กำหนดให้การบินไทยต้องชำระหนี้ตั๋วให้กับผู้โดยสารภายในเดือนมีนาคม 2567 ล่าสุดขณะนี้มียอดค้างที่ผู้โดยสารยังไม่ได้มารีฟันด์อยู่ 1,100 กว่าราย ซึ่งการบินไทยก็พยายามติดต่อผู้โดยสารผ่านอีเมล์ บางรายไม่มีรายละเอียดสำหรับติดต่อ หรือบัญชีที่โอน ก็พยายามสื่อสารให้ผู้โดยสารขอรีฟันด์ไว้ โดยเฉพาะผู้ที่ขอรีฟันด์ก่อนปี 63 ก็พยายามเต็มที่ โดยระบุว่า การขอคืนเป็นตั๋วโดยสารดีกว่าขอคืนเป็นเงินสด เพราะ สามารถใช้ได้เหมือนตั๋วผู้โดยสารปกติไม่เหมือนกับตั๋วแลกไมล์ ที่ยังมีข้อจำกัด เพราะมีจำนวนผู้โดยสารปกติ และวันนี้ราคาตั๋วปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นให้รีบมาใช้ตั๋วเลย ราคาไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มอยู่แล้ว ซึ่งหากมารีฟันด์เงินสดแล้วไปซื้อตั๋วใหม่ ก็อาจจะมีราคาที่สูงขึ้น

Scroll to Top