ตลาดพลู คือ ย่านเก่าแก่ที่ถูกดิสรัปจากการเปลี่ยนแปลงของการขยายเมืองในกรุงเทพฯ การสร้างความเชื่อมโยงให้คุณค่าของย่านเมืองเก่าถูกถ่ายทอดออกไปยังคนรุ่นใหม่ในรูปแบบที่สอดรับกับวิถีชีวิตคนเมือง จึงเป็นโจทย์หลักในการทำนิทรรศการของทีมงานคณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งเป็นเอกชนรายเดียวที่ได้เข้าร่วมทำงานกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ สศส.ในการจัดทำนิทรรศการ Bangkok Design week ซี่งเป็นเทศกาลงานออกแบบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มียอดผู้เข้าชมงานทั้งไทยและต่างประเทศมากกว่า 400,000 คนในแต่ละปี
คุณค่าวัฒนธรรมเชื่อมโยงคนสองยุค
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดการออกแบบนิทรรศการตลาดพลูในงาน Bangkok Design week 2023 เล่าว่า คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนรายเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในงาน Bangkok Design week 2023 ที่ตลาดพลูในปีนี้ ซึ่งปัจจุบันย่านตลาดพลูมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เมื่อรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ ความเจริญเข้ามาเยือน โครงการที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ เช่น คอนโดมีเนียม บ้านจัดสรร เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผู้อยู่อาศัยใหม่ ๆ เข้ามาในพื้นที่ เกิดการผสมผสานของคนกลุ่มใหม่นอกพื้นที่กับผู้อยู่อาศัยดังเดิมในชุมชน มีความไม่เข้าใจเรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดังเดิมของคนเก่าที่อยู่เดิมในชุมชนตลาดพูลมายาวนาน เกิดเป็นโจทย์ให้ขบคิดหาวิธีเพื่อให้สองวิถีชีวิต คนใหม่ กับคนเก่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ในพื้นที่เดียวกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการบอกเชิญชวนให้คนรุนใหม่ ชาวต่างชาติ เข้ามาสัมผัสมรดก วัฒนธรรมของชุมชนเก่าแก่ย่านตลาดพลู อีกหนึ่งเสน่ห์ของเมืองไทยผ่านมุมมองใหม่
–VFS Global เปิดตัว ‘ศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าเคลื่อนที่’ แห่งที่ 4 ที่ ICONSIAM
ด้วยโจทย์นี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้จัดนิทรรศการ Bangkok Design week 2023 ในคอนเซ็ปต์ ‘เมืองมิตรดี’ เราได้ตีโจทย์ นำต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นคุณค่าในการต่อยอดสร้างมูลค่าให้กับชุมชน โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลเริ่มระดมสมองคุยกันในคณะฯ ทั้งคนรุ่นเก่าคืออาจารย์ และคนรุ่นใหม่คือนักศึกษาในคณะฯ มีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่สามารถช่วยให้การสื่อสารออกไปสร้างความเข้าใจให้คนเก่าและคนใหม่ในพื้นที่ คงไว้ซึ่ง ‘ต้นทุนทางวัฒนธรรม’ ของชุมชนตลาดพลู ซึ่งนับเป็น Core Value ที่มีมูลค่าและต่อยอดออกไปให้ทันสมัยผ่านนิทรรศการที่จัดออกมา 2 ส่วน คือ ในพื้นที่ตลาดพลูและวงเวียนใหญ่ ทำให้จุดประกายไอเดียของโครงการ แอสเสท (SC ASSET) หนึ่งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ในย่านตลาดพลู ได้เข้าร่วมการทำงานออกแบบเชิงศิลปะนำสินค้า DIY ซึ่งเป็นไฮไลท์ของย่านนี้ไปจัดแสดงไว้ในคอนโดจำลองเพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจคุณค่าของวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ซึ่งอยู่อาศัยมานาน
สำหรับแกนความคิดสร้างสรรค์ได้ถูกแบ่งไว้ 3 ส่วน ส่วนแรกทำให้คนรู้จักและสัมผัสของดีย่านตลาดพลู ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนได้สัมผัสจากการลงมือทำผ่านกิจกรรมลักษณะทำเวิร์คช็อป เช่น การจัดกิจกรรมระบายสีหัวสิงโต เนื่องจากในย่านนี้มีคณะเชิดสิงโตที่มีชื่อเสียง กิจกรรมเรียนรู้เรื่องการทำว่าว เนื่องจากย่านนี้มีแชมป์การเล่นว่าว และการเปิดพื้นที่โรงสีเพื่อให้เรียนรู้เรื่องเส้นทางการค้าข้าวในอดีต
ส่วนที่ 2 คือการหาความเป็นไปได้ใหม่ โดยเราอยากเห็นว่าในย่านเดิมที่มีคนใหม่เข้ามาจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ด้วยการใช้นิทรรศการนี้ในการสื่อสารรับความคิดเห็นของคนเดิมว่า อยากเห็นตลาดพลูในอนาคตแบบไหน โดยใช้การสื่อสารผ่านศิลปะเป็นตัวกระตุ้นความคิด การใช้แสงสีเพิ่มความสดใส มองเห็นง่าย เช่น บริเวณศาลเจ้า นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ออกแบบแผนที่ย่านตลาดพลูให้เข้าถึงงาน และ ในส่วนที่ 3 คือการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนในชุมชนที่เป็นพลังขับเคลื่อนของย่านนี้ เข้ามาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองว่าจะทำอย่างไรกับย่านที่อยู่อาศัยที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลง
สร้างระบบคิด ‘Design Thinking’ ต่อยอดมูลค่าจากคุณค่า
ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ เล่าต่อว่า การที่นักศึกษาของคณะได้เข้าร่วม Bangkok Design weekทำให้นักศึกษาได้ลงสนามประสบการณ์จริง เรียนรู้วิธีคิด ลงมือทำ การแก้ปัญหา การใช้ความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำไปปรับใช้พร้อมลงสนามการทำงานจริงหลังจากเรียนจบ ปูทางให้พร้อมกระโดดเข้าสู่สนามการทำงานได้อย่างรวดเร็ว คณะฯ เน้นการสอนให้นักศึกษาตีโจทย์สินค้าหรือบริการที่ได้รับ และสื่อสารออกมาในรูปแบบงานคิดสร้างสรรค์ เน้นสร้างคุณค่าและมูลค่าใหม่จากสินค้าหรือบริการเดิม
หัวใจสำคัญของ Design Thinking คือ มองให้เห็นถึงคุณค่าของสินค้า เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีแต่เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์นำ Core Value มาต่อยอดในการสร้างมูลค่าทางธุรกิจ เช่น นักศึกษามีประสบการณ์สร้างมูลค่า ว่าวปักเป้า หัวสิงโต โมเดลไม้ ของดีชุมชนตลาดพูล ด้วยการถอดประสบการณ์ความชำนาญ ความปราณี นำมา Core Value เป็นนวัตกรรมรูปแบบบใหม่ เป็นเสื้อ โมเดล หรือจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปให้คนได้มีส่วนร่วมและตระหนักถึงมูลค่าทางภูมิปัญญา จากเดิม ว่าว ขายสปอร์ตเซอร์ หัวสิงโต รับจ้างเชิดตามงาน โมเดลไม้ ประกอบแล้วเข็นขายตามงานต่าง ๆ
ในมุมของสังคมเกิดการตระหนักและมองเห็น สัมผัส ถึงคุณค่าจากวิถีชีวิตแบบเดิมผ่านมุมมองและรูปแบบใหม่ เราไม่อยากเสียต้นทุนทางวัฒนธรรมไปกับการเปลี่ยนแปลงของเวลาจากการเปลี่ยนของช่วงอายุคน เพราะเอกลักษณ์เกิดขึ้นได้ต้องใช้เวลานาน เราจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงของเมืองกับวิถีชีวิตเดิมและผู้คนเติบโตไปพร้อมกันได้ โดยเราคาดหวังว่าการถ่ายทอดแนวคิดนี้จะเป็นฐานเศรษฐกิจในอนาคตให้กับย่านนี้ได้ ซึ่งเป็นในรูปแบบใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยซึ่งผู้คนที่อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่สามารถใช้คุณค่าจากทักษะหรือประสบการณ์ส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ ๆ
“อนาคตอาชีพของงานความคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking จะจำเป็นต่อทุกบริษัท คล้ายกับการที่บริษัทจะต้องมีฝ่ายกฎหมาย ปัจจุบันสังคมมีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ธุรกิจที่จะอยู่ได้ต้องปรับตัวให้ทันและจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ การติดอาวุธกระบวนการคิดแบบ Design Thinking นักคิดนวัตกรรม ช่วยให้นักศึกษาที่จบจากคณะออกแบบและสถาปัตยกรรม ของเรากลายเป็นที่ต้องการในตลาดในทุกสายอาชีพ มีค่าตัวสูง และยังมีความพร้อมที่จะก้าวออกไปสร้างธุรกิจของตนเอง หรือต่อยอดธุรกิจครอบครัวด้วยสร้างนวัตกรรม เพิ่มมูลค้าทางธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ”
เป็นที่มาของการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ เดิมชื่อว่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม พร้อมกับเปิดหลักสูตรใหม่ ‘Design Innovation’เพื่อดึงเอาจุดแข็งในการสร้าง Talent ผ่านการปลูกฝังรากฐาน Design Thinking ทักษะด้านการออกแบบที่มาพร้อมความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงความสามารถในการบริหารจัดการ เพื่อปรับเปลี่ยนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ทันกับการถูกดิสรัปจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วจากหลายมิติ
จากความรู้ในห้องเรียน สู่ระบบคิดในสนามงานจริง
กิ๊ฟ โชติรส จันเอก นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุมซึ่งตอนนี้ทำงานอิสระด้วยการรับออกแบบ เล่าถึงประสบการณ์บนสนามจริงให้ฟังว่า การได้เข้าร่วมทำงานกับคณะฯ ในการออกแบบนิทรรศการของ Bangkok Design week ได้รับประสบการณ์ที่ต่างออกไปจากการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ได้เรียนรู้งานจากพื้นที่จริง เดินลงพื้นที่คุยกับคนในชุมชน ได้รู้ปัญหาและสิ่งที่ชุมชนต้องการ ทำให้นำโจทย์ที่ได้มาคิดต่อยอดเพื่อนำเสนอออกมาผ่านนิทรรศการ
“ได้นำระบบวิธีคิดที่คณะสอนมาใช้ในงานจริงและได้เรียนรู้การทำงานกับคนที่หลากหลาย การเรียนสถาปัตยกรรมสามารถต่อยอดออกไปได้หลายอาชีพ ไม่ใช่แค่ออกแบบบ้านเพียงอย่างเดียว แต่สามารถปรับไปสู่การนำระบบคิดสร้างสรรค์ไปใช้ได้กับทุกงาน” อดีตนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เล่า
มิ้ม พัชรินทร์ เครือศรี นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งตอนนี้ทำงานอิสระด้านการออกแบบ เขียนแบบ เล่าว่า การทำงานในนิทรรศการตลาดพลู เริ่มจากการคัดเลือกสถานที่สำคัญที่มีจุดเด่นในย่าน แล้วใช้วิธีเดินสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้อง หลังจากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาเรียบเรียงเพื่อนำเสนอในรูปแบบดิจิทัลบนแอปพลิเคชันด้านท่องเที่ยวเพื่อแนะนำให้คนในพื้นที่ได้เข้าถึงความสำคัญและคุณค่าของย่านตลาดพลู ส่วนงานออกแบบในพื้นที่จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดในทีม ทำงานเหมือนระบบงานของบริษัทจริง ๆ
สำหรับสิ่งที่ได้จากโครงการนี้คือได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ จากหลายฝ่ายที่ต้องทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเดิม การทำความเข้าใจกับความต้องการของคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ ซึ่งจะต้องเก็บข้อมูลอย่างละเอียดและถูกต้องในการออกแบบ 1 ชิ้นงาน ซึ่งทำให้ได้กระบวนความคิดในการทำงานและสามารถนำไปเป็นวิธีคิดในการทำงานอื่น ๆ ได้ด้วย
ส่งต่อมรดกวัฒนธรรมรูปแบบใหม่
พี่จิ๋ม อรพิณ วิไลจิตร หนึ่งในชาวตลาดพลูหน้าใหม่ผู้หลงใหลเสน่ห์ชุมชนตลาดพลู มีแนวคิดที่เปิดรับ พร้อมปรับตัวและดึงเอาคุณค่าในสินทรัพย์ของตัวเองออกมาสร้างมูลค่า โดยพี่จิ๋มเป็นเจ้าของอาคารสีเหลือง 3 ชั้น ที่ครั้งหนึ่งเป็นที่ทำการทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอดีต มีการจัดกิจกรรมในพื้นที่พัฒนาย่านตลาดพลูอย่างต่อเนื่อง ชาวตลาดพลูหน้าใหม่ที่เข้ามาอาศัยในพื้นที่ไม่นาน แต่มีความสนใจ ร่วมกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่นอย่างแข่งขัน โดยเริ่มต้นจากกิจกรรมเดินเมืองสํารวจย่านกิจกรรมเวิร์คช็อป เช่น DIY ประดิษฐ์งานคราฟ วาดเขียนสีนํ้า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับเอกลักษณ์ของย่านตลาดพลู รวมถึงการจัดแสดงหุ่นกระบอกศิลปะจีนและมีการประชาสัมพันธ์ผ่าน FACEBOOK FANPAGE ‘ถามสิ อิฉันคนตลาดพลู’ ซึ่งมียอดผู้ติดตามจำนวนมาก
“การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคการศึกษาในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญของการต่อยอดสร้างมูลค่าชุมชนตลาดพลูให้คงอยู่ไม่จางหายไปกับการเวลา โดยการต่อยอดสร้างมูลค่า “ของดี” ผ่านมุมมอง รูปแบบใหม่ ที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ”
ลุงตุ๋ย อาทร พูลศิริ เจ้าของผลิตภัณฑ์ งานโมเดลจำลองทำด้วยมือของทหารผ่านศึก ผู้ใช้ทักษะช่างไม้ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต แกะแบบออกแบบโมเดลจำลองไม้ หาเลี้ยงชีพ ช่วงโควิดระบาด ด้วยการรับออเดอร์จากลูกค้าที่ต้องการโมเดลไปเป็นของขวัญในเทศกาลต่าง ๆ และเข็นขายในพื้นที่ตลาดพูล โดย 1 งาน ใช้เวลาทำนาน 8 ชั่วโมง แต่บางวันเข็นขายตั้งแต่เช้ายันเย็นกลับขายไม่ออกแม้แต่ชิ้นเดียว
โดยจากการเดินสำรวจของกลุ่มนักศึกษา ได้พบคุณลุงและพูดคุยถึงปัญหา พบว่าคุณค่าของงานคุณลุงอยู่ที่ ทักษะและประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ หากนำสิ่งนี้มาคิดรูปแบบการนำเสนอใหม่ เปิดเวิร์คช็อปให้คนที่สนใจมาร่วมเรียนรู้ประกอบงานไม้ของตัวเอง จะทำให้คนเห็นคุณค่าของงานและบอกต่อ ทำให้คุณลุงมีออเดอร์เพิ่มขึ้น และได้ช่วยออกแบบแพคเกจจิ้ง เพิ่มความสวยงามให้งานไม้จำลองมีมูลค่าและมนต์คลังยิ่งขึ้น
“เด็กรุ่นใหม่เขาคิดเก่ง ทำงานของลุงมีคุณค่า น่าจดจำ มากขึ้น และลุงยังได้แบ่งปันประสบการณ์ให้คนรุ่นหลังได้เก็บไปเป็นแรงบันดาลใจและงานไม้จำลองของลุงอาจจะมีคนเห็นค่าและสืบทอดไว้”