ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวเปิดวิสัยทัศน์ ปี 65 เร่งปฏิรูปการศึกษา คิดใหม่ ทำใหม่ รับมือความท้าทาย หนุนสร้างเด็กไทย สู่พลเมืองโลก ชูเข็มทิศการศึกษา เป็นเข็มทิศชี้นำประเทศได้ เตรียมงานใหญ่ผลักดันสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นองค์กรหลักด้านการศึกษา ปรับหลักสูตร จากกลุ่มสาระวิชาเป็นหลักสูตร “ฐานสมรรถนะ” เรียน ตอบโจทย์ แก้ไขปัญหาได้ พร้อมตั้งคณะทำงานคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ
–ดีแทค ลงนามสัญญาสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืน โดยมีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR
–ขนส่งทางรางฯ เร่งแก้ สะพานพระราม 6 ทรุดตัว กระทบการให้บริการเดินรถไฟสายใต้
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ในปี 2565 การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อปฏิรูปการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียน หลายประเด็นมีความคืบหน้าเป็นอย่างมากแม้ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านโดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบใหญ่ต่อการศึกษา ในฐานะที่กำกับสภาการศึกษา (สกศ.) เตรียมผลักดัน สกศ.เป็นองค์กรหลักด้านการศึกษา โดยในปีนี้มีงานหลักที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ จากกลุ่มสาระวิชาเป็นหลักสูตร “ฐานสมรรถนะ” และจะยังขับเคลื่อนนโยบายผ่าน 3 กลไกนั่นก็คือ ความทันสมัย- เท่าเทียม- และยั่งยืน เพราะถือเป็นหัวใจในการพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ รวมถึงสร้างให้เป็นพลเมืองโลก พร้อมเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาทั้งทางด้านโครงสร้าง และการปฏิรูปไปสู่ตัวผู้เรียนโดยตรง เพื่อวางรากฐานการศึกษาไทยให้สอดรับกับโลกในศตวรรษที่ 21 และในอนาคต
“ดิฉันเป็นรัฐมนตรีช่วยฯ กว่า 3 ปี ปีนี้จะก้าวสู่ปีที่ 4 ซึ่งจะยังเร่งเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยผลักดันนโยบายหลายเรื่องให้มีความคืบหน้าและเป็นรูปธรรม วันนี้การปฏิรูปการศึกษาไทยต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งเรื่องการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….. การปรับเปลี่ยนหลักสูตร และวิธีการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด รวมถึงการจัดหา Smart Devices ของกระทรวงศึกษาฯ เพื่อใช้ในการเรียน Online มาให้โรงเรียนหรือนักเรียนที่ยังขาดแคลน ผ่านคณะกรรมการโค้ดดิ้งแห่งชาติที่ดิฉันได้เป็น ผู้ผลักดันให้เกิดขึ้นและขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ ซึ่งทุกอย่างเป็นความท้าทาย แต่ไม่เคยท้อถอยและมั่นคงในแนวทางที่จะนำไปสู่เป้าหมาย”
คุณหญิงกัลยา กล่าวต่อว่า กระทรวงศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของตนจะยังมุ่งขับเคลื่อนโยบาย และเร่งเดินหน้ารวมถึงต่อยอดใน 7 โครงการสำคัญต่อเนื่อง นั่นก็คือ
1.โครงการ Coding For All ที่จะเดินหน้าขยายผล ขับเคลื่อน ทุกภาคส่วน เพื่อกระจายการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ และทุกช่วงวัย ซึ่ง Coding คือทักษะที่เด็กไทยและคนไทยทุกคนต้องมี ถือเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที 21
2.โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ที่ได้เริ่มขยายผลสู่ชุมชน ปัจจุบันได้เปิดสอนหลักสูตร “ชลกร” รุ่นที่ 1 ไปแล้ว เพื่อปั้นนักบริหารจัดการน้ำในชุมชน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ มีเป้าหมายคือการช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีน้ำกิน น้ำใช้ แก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และวันนี้ก้าวหน้าไปมาก จนสามารถสร้างผู้ประกอบการเกษตรยุคใหม่ ให้มีรายได้ระหว่างเรียน และจบมามีงานทำ รวมถึงบางวิทยาลัยยังสามารถสร้างผลผลิตที่ส่งออกไปจำหน่ายได้ด้วย ถือเป็นโมเดลในการสร้างเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงด้านอาหารและส่งเสริมให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะในยามที่โลกเกิดวิกฤต
3.โครงการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์แนวสร้างสรรค์ ผ่านสื่อร่วมสมัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมฝึกให้มีการคิดเชิงวิพากษ์
4.โครงการสร้างมิติใหม่การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ผสานศาสตร์และศิลป์ เปลี่ยน STEM เป็น STEAM วิทยาศาสตร์พลังสิบ ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายโอกาสให้นักเรียนได้เรียนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างกว้างขวาง เน้นการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน
5.โครงการการศึกษาที่เท่าเทียม สร้างโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสและพิการ พัฒนาทักษะชีวิตผ่านการเรียนรู้ การศึกษาไทยจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
6.โครงการอาชีวะฐานวิทย์ สร้างวิชาชีพคนไทยรุ่นใหม่ ป้อนคนสู่ภาคอุตสาหกรรม ตอบรับโลกดิจิทัล
7.โครงการยกระดับการศึกษารอบด้านเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ปรับการประเมินผล เพื่อให้เป็นไปตามรูปแบบที่สอดรับกับโลกปัจจุบัน
นอกจากนี้ในงานยังได้มีการเปิดตัวคณะที่ปรึกษาและคณะทำงานคนรุ่นใหม่ และทีมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านซึ่งล้วนเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ นำโดย ภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา, ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย, รองศาสตราจารย์ ดนุวัศ สาคริก, เมธี อรุณ (เมธี ลาบานูน) และ เมธวิน อังคทะวานิช เป็นต้น