หนึ่งในพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนทั่วโลกทางด้านการศึกษาหลังโควิด-19 คือ คนเริ่มคุ้นชินกับการหาความรู้ผ่านโลกออนไลน์ เรียนในช่วงเวลาที่ตนเองสะดวกมากขึ้น เช่นเดียวกับคนไทยที่ต้องการศึกษาหาความรู้จากคอร์สจากต่างประเทศเพื่อศึกษาต่อหรือเพื่อเสริมทักษะการทำงาน ต่างหาช่องทางเรียนรู้ทักษะเหล่านี้จากในประเทศไทยมากขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์
AIS Academy ในฐานะแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้านการเสริมทักษะความรู้ เล็งเห็นความสำคัญด้านการศึกษาทั้งการ Reskill และ Upskill ในยุคหลังโควิด-19 ที่คนต้องการทักษะใหม่ ๆ มากขึ้น จนเป็นที่มาของความร่วมมือกับสถานทูตแคนาดา และ Colleges and Institutes Canada (CICan) ดึงหลักสูตรชั้นนำจากประเทศแคนาดาเข้ามาให้คนไทยได้เรียนรู้ ในราคาที่เข้าถึงได้
–AIS เดินหน้าส่ง “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์” เข้าสถานศึกษากว่า 29,000 โรงเรียนในเครือ สพฐ. ทั่วประเทศ
“ความร่วมมือในครั้งนี้แคนาดาได้ให้เกียรติและให้ความเชื่อใจ AIS Academy อย่างมาก เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า แคนาดาเป็นประเทศที่มีหลักสูตรการศึกษาในระดับโลก” กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และ กลุ่มอินทัช กล่าว ก่อนเสริมว่า บทบาทของ AIS ในด้านการศึกษานั้นมีอยู่ 2 แกน คือ 1.การพัฒนาคนในองค์กร และ 2.บริบทการรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้ ACADEMY for THAIs เป็นภารกิจคิดเผื่อที่ AIS จะช่วยเป็นไม้ขีดไฟจุดประกายส่งต่อความสว่างให้ประเทศ ช่วยให้สังคมแข็งแรงผ่านการศึกษา และการร่วมมือครั้งนี้จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ AIS จะนำประโยชน์ไปสู่ประชาชน
ด้าน ซันจีฟ เชาเดอรีย์, ทูตพาณิชย์, สถานเอกอัครราชทูตแคนาดา กล่าวว่า หน้าที่ของสถานทูตแคนาดา คือ เป็นตัวกลางแนะนำบริษัทแคนาดาให้มาเจอกับบริษัทไทย เพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกัน ครั้งนี้เป็นการจับคู่ระหว่าง CICan และ AIS ร่วมมือกันพัฒนาการศึกษาไทย เข้ามาเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์การศึกษาไทย ในการเผยแพร่ความรู้ไปทั่วประเทศ โดยนำการศึกษาจากแคนาดาที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมาให้คนไทยได้เรียน ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสสำหรับการศึกษาในทุกพื้นที่ของประเทศไทย
หลักสูตรที่ถูกปรับมาเพื่อการศึกษายุคใหม่
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาทุกประเทศทั่วโลกต้องปรับรูปแบบการศึกษาใหม่ นักเรียนหลายคนที่ต้องการไปศึกษาต่อต่างประเทศต้องหันมาเรียนออนไลน์ในประเทศก่อนเดินทางไปเรียนต่อในต่างประเทศ ซึ่ง CICan เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาพัฒนารูปแบบการศึกษาให้เหมาะกับการเรียนรู้ยุคใหม่มากขึ้น จนปัจจุบันนักเรียนที่แคนาดาสามารถเรียนออนไลน์ตั้งแต่ประถมไปจนถึงมหาวิทยาลัย และได้นำรูปแบบการศึกษานี้มาปรับใช้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
เดนิส แอมโยท, ประธาน Colleges and Institutes Canada (CICan) กล่าวว่า หลักการทำงานของ CICan จะใช้หลักการรูปแบบ 3 เหลี่ยม คือ 1.แรงงานของประเทศนั้นๆ ต้องการอะไร 2.รัฐบาลต้องการอะไร และ 3.สถาบันการศึกษาต้องการอะไร จากนั้นจะกลับมาดูว่า CICan ให้อะไรได้บ้าง และปรับหลักสูตรให้เข้ากับความต้องการของตลาด
“เราก่อตั้งมา 50 ปี ทำงานร่วมกับ 100 กว่าประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน มีความต้องการที่แตกต่างกัน เราจึงพัฒนาคอร์สให้เข้ากับสภาพสังคม สภาพตลาด และความต้องการของแต่ละประเทศ” เดนิส กล่าว
กานติมา กล่าวเสริมว่า “สำหรับในประเทศไทยหลายองค์กรอาจจะยังต้องการห้องเรียนอยู่ แต่เมื่อดิจิทัลเข้ามามากขึ้น คนสามารถหาความรู้จากต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ขณะที่คนรุ่นใหม่หันมาเรียนในช่วงเวลาที่สะดวกและต้องการเรียน แพลตฟอร์มการศึกษาจึงมีความสำคัญมากขึ้น”
จากเทรนด์ที่เปลี่ยนไปทำให้ CICan พัฒนาคอร์สใหม่ในรูปแบบสั้นๆ 8-9 นาที กว่า 150 กว่าวิชา เน้นการสอนด้านอาชีพ โดยเฉพาะด้านการแพทย์ (Medical) ได้เห็นการปฏิบัติงานจริง วิธีการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงได้ หรือการพัฒนาคนให้มีความรู้ด้านการทำธุรกิจ ทำการตลาด ทำแพ็กเกจจิง รวมถึงมีคอร์สด้านความยั่งยืน (Sustainability) ที่ทุกธุรกิจทั่วโลกให้ความสนใจ
“คอร์สสั้นๆ ที่เราพัฒนาขึ้นได้รับการยอมรับแล้วว่าได้ผลในการนำไปใช้จริง” เดนิส กล่าว
รวมคอร์สชั้นนำจากแคนาดาสู่การพัฒนาสกิลคนไทย
สำหรับความร่วมมือระหว่าง AIS และ CICan ในครั้งนี้ จะนำคอร์สสั้น ๆ ที่ใช้เวลาเรียนรวมไม่เกิน 30 ชั่วโมง เป็นคอร์สที่พัฒนาความสามารถด้านซอฟต์สกิล (Soft Skill) ที่สามารถวัดผลได้ในตัวเอง โดยเจาะไปที่กลุ่มคนทำงาน และนักศึกษาที่กำลังจะเข้ามาอยู่ในตลาดแรงงาน
กานติมา กล่าวว่า การทำงานร่วมกันครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 แกน คือ แกนที่ 1 CICan ทำหน้าที่สร้างองค์ความรู้ที่เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน แกนที่ 2 คือ AIS ทำหน้าที่นำความรู้ไปหาคนให้ได้มากที่สุด และ แกนที่ 3 สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ คือ การพัฒนาแบบปัจเจกบุคคล เพราะความรู้จะไม่สามารถเชื่อมไปถึงคนได้ถ้าคน ๆ นั้นไม่เปิดรับ
สำหรับคอร์สที่นำเข้ามาสอนมีตั้งแต่ความรู้ที่คนไทยสนใจไปจนถึงคอร์สวิชาการทั่วไป โดยแบ่งลักษณะเป็นแบบ Non Credit เป็นเรียนเพื่อเสริมสร้างความรู้การทำงาน ส่วนแบบมี Credit เป็นคอร์สที่สามารถเข้าไปเรียนและเก็บ Credit ไปใช่กับมหาวิทยาลัยที่แคนาดาได้
ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้เข้าถึงความรู้เหล่านี้ มีตั้งแต่พนักงาน AIS ทั้งหมด ลูกค้าองค์กรที่เป็นพันธมิตรกับ AIS และกลุ่มคนทั่วไป นอกจากนี้ยังร่วมมือกับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ร่วมกับ ก.พัฒนาสังคม นำความรู้เหล่านี้ไปสู่โรงเรียนชายขอบ ทำให้ลดช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างคนเมืองและคนต่างจังหวัด
“การทำงานร่วมกันครั้งนี้เราเน้นด้านคุณภาพ ให้คนต้องเข้าถึงหลักสูตรระดับโลกได้จากทุกสถานที่ทุกเวลาผ่านแพลตฟอร์ม LearnDi ซึ่งก้าวต่อไปของ AIS คือการยกมหาวิทยาลัยที่แคนาดามาไว้ที่นี่” กานติมา กล่าว
“คอร์สที่นำมาสอนคนไทยเป็นคอร์สที่ชาวแคนาดา ในวงการธุรกิจและนักศึกษาเข้ามาเรียนอยู่เรื่อย ๆ นอกจากนี้ ในคอร์สยังมีทั้งภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส การที่คนไทยได้เข้าถึงความรู้เหล่านี้จะได้พัฒนาภาษาไปในตัวด้วย” เดนิส กล่าวเสริม
กานติมา กล่าวในตอนท้ายว่า “การขยับตัวในครั้งนี้ AIS ต้องการให้เกิดการศึกษาไร้พรมแดนผ่านแพลตฟอร์ม LearnDi เราร่วมมือกันโดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ให้การศึกษาไปถึงทุกชุมชน กลุ่มคนที่ด้อยโอกาสที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมหาศาลที่ขาดทุนทรัพย์ เราอยากส่งมอบการศึกษาไปสู่ผู้คนได้มากขึ้น ภายใต้ราคาที่สมเหตุสมผล และได้มาตรฐานเดียวกับการไปเรียนที่แคนาดา เราพร้อมร่วมมือกับแคนาดาเพื่อนำโอกาสเหล่านี้มาสู่คนไทย”