AIS ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ต่อยอดภารกิจส่งหลักสูตรเข้าถึงประชาชนทุกช่วงวัย รุกเจาะกลุ่มผู้สูงวัย หนึ่งในเป้าหมายหลักของแก๊งมิจฉาชีพออนไลน์ เล็งให้ความรู้ผู้สูงวัยกว่า 175,000 คน พร้อมพัฒนาหลักสูตรเร่งรัด เรียนรู้ไวภายใน 1 ชั่วโมง
ต้องยอมรับว่า “ผู้สูงวัย” ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไปแล้วหลายต่อหลายราย โดยเฉพาะกลุ่มที่อายุ 60 ปีขึ้นไปถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์สูงสุด ปัจจุบันมิจฉาชีพใช้การหลอกลวงหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกให้รัก หลอกเป็นคนรู้จัก(เป็นลูกหลาน) หลอกลงทุน หรือทำให้เหยื่อตกใจ ซ้ำร้ายผู้สูงวัยบางรายยังถูกหลอกซ้ำซ้อนจากมิจฉาชีพที่ปลอมเป็นตำรวจทำทีจะเข้ามาช่วย แต่สุดท้ายกลับหลอกเงินจากเหยื่อไปอีก
พม. อีก 1 จิ๊กซอว์สำคัญส่งต่อความรู้สู่ผู้สูงวัย
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า “ปัจจุบันคนเข้าถึงดิจิทัลมีจำนวนมาก ซึ่งมันมีประโยชน์ แต่หากใช้งานไม่ถูกต้องก็มีผลเสียเช่นกัน วันนี้จะพบว่ามีทั้งเรื่องปัญหาคอลเซ็นเตอร์ หรือ SMS หลอกลวง ซึ่ง AIS มีแนวทางในการสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างทักษะดิจิทัล ผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ที่ได้ออกแบบเนื้อหาที่ได้มาตรฐานของกรอบการพัฒนาทักษะดิจิทัลทั่วโลก”
AIS เห็นปัญหาด้านภัยไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่อง จึงลุกขึ้นมาเป็นแกนกลางในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับคนไทยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา โดยมีภาคีเครือข่ายมากมายทั้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กรมสุขภาพจิต โรงเรียนในสังกัด กทม. และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ปัจจุบันมีผู้เข้าถึงหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์แล้วมากกว่า 320,000 คน
ซึ่งการจับมือกับกระทรวง พม. เข้ามาเป็นอีก 1 ภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ เป็นการขยายกลุ่มเป้าหมาย จากนักเรียน ครู ไปถึงประชาชนทั่วไป โดยเน้นเจาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงและมีจำนวนมากถึง 13 ล้านคนทั่วประเทศ
ด้าน วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มิจฉาชีพจ้องหลอกลวง ซึ่งเงินเก็บที่ใช้ทั้งชีวิตเก็บสะสมให้ลูกหลาน กลับหายไปในพริบตา เราเป็นหน่วยงานราชการ จะต้องร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา กระจายองค์ความรู้ด้านภัยไซเบอร์ไปทุกที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนอุ่นใจ”
ปรับหลักสูตร สร้างครูแม่ไก่ กระจายความรู้สู่ผู้สูงวัย
สำหรับแนวคิดการกระจายความรู้ไปสู่ผู้สูงวัยนั้น AIS จะร่วมมือกับกระทรวง พม. สร้างครูแม่ไก่ ให้เป็นผู้ส่งต่อความรู้ประมาณ 11,000 คน โดยดึงบุคลากรและอาสาสมัครที่มีความใกล้ชิดผู้สูงวัยเข้ามาเรียนรู้หลักสูตร ก่อนจะเป็นตัวแทนส่งต่อความรู้
ตั้งเป้าเจาะไปที่โรงเรียนผู้สูงวัยกว่า 2,500 แห่งทั่วประเทศ มีจำนวนผู้สูงวัยมากถึง 175,000 คน โดยคาดว่าใช้เวลา 3-4 เดือนในการส่งต่อความรู้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด
ไม่เพียงเท่านี้ AIS ยังพัฒนาหลักสูตรร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ ออกมาเป็นหลักสูตรเร่งรัด ให้ความรู้กับวิธีการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย เรียนจบได้ภายใน 1 ชั่วโมง จากหลักสูตรเต็มที่ต้องใช้เวลาเรียน 6-8 ชั่วโมง อีกด้วย
ปักหมุด เพิ่มดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลคนไทย
จากข้อมูลของตำรวจไซเบอร์ พบว่าตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 20 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยไซเบอร์รวมมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง AIS ในฐานะผู้นำด้านบริการดิจิทัล ได้ตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ให้ความสำคัญต่อการสร้างสังคมดิจิทัลที่ดี มีหมุดหมายที่สำคัญ คือ การสร้างภูมิกันให้กับประชาชนคนไทยทุกคน ให้สามารถใช้ได้อินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย ไม่ตกเป็นเหยื่อ จากการหลอกลวงของมิจฉาชีพทุกๆ รูปแบบผ่านแกนสำคัญ 4 ด้าน หรือ 4P 4ป ประกอบด้วย
- Practice ปลูกฝังให้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
- Personality ปกป้องความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์
- Protection เรียนรู้การป้องกันภัยไซเบอร์บนโลกออนไลน์
- Participation รู้จักการปฏิสัมพันธ์ด้วยทักษะและพฤติกรรมการสื่อสารบนออนไลน์อย่างเหมาะสม
ซึ่ง AIS เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยดันดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยโดยเฉพาะผู้สูงวัยให้เพิ่มสูงขึ้น
“เราตั้งเป้าจะส่งต่อหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปยังประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งการร่วมมือกับ พม. ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่สำคัญที่จะผลักดันกลุ่มผู้สูงวัย ให้เข้าถึงแหล่งความรู้ที่จะสร้างภูมิคุ้มกัน ยกระดับสุขภาวะทางดิจิทัล และพร้อมจะเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี ที่สร้างสังคมไทยให้น่าอยู่และแข็งแรง” สมชัย กล่าวทิ้งท้าย