AIS Academy เปิดผลงาน 10 ครูไทย คว้ารางวัลชนะเลิศจากเวที “THE EDUCATORS THAILAND”

AIS Academy เปิดผลงาน 10 ครูไทย คว้ารางวัลชนะเลิศจากเวที “THE EDUCATORS THAILAND

เมื่อความรู้เป็นอาวุธสำคัญในชีวิต AIS Academy จึงพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาให้เด็กไทยได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด -19 ที่ผ่านมา ซึ่งเด็กไทยต้องปรับตัวเข้าสู่การเรียนในระบบออนไลน์ ดังนั้นคุณครู ในฐานะผู้ถ่ายทอดความรู้ จึงต้องปรับตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือ สื่อการสอนในทุกมิติ

AIS Academy เล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ จึงได้เปิดพื้นที่ให้ครูไทยได้พัฒนาศักยภาพตัวเองและผลิตสื่อการเรียน การสอนรูปแบบใหม่เพื่อยกระดับการศึกษา ผ่านโครงการ “THE EDUCATORS THAILAND” โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และบุคลากรในวงการการศึกษาชั้นนำของประเทศ เพื่อ เชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อครูไทย ยกระดับภาคการศึกษาสู่ดิจิทัลแบบครบวงจร โดยมีบุคลากรด้านการศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 คน ในช่วงที่ผ่านมา และวันนี้เมื่อจบโครงการก็ทำให้มีถึง 10 ผลงาน จาก 10 คุณครู ที่ชนะเลิศโครงการ THE EDUCATORS THAILAND พร้อมได้เข้ารับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อต้นเดือนมิถุนายน

AIS Academy ตอกย้ำภารกิจคิดเผื่อ เปิดเวที JUMP Bootcamp 2022
SEAC จับมือ Code School Finland นำร่องพัฒนาครู ดันหลักสูตร Coding สร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้เด็กไทย ใน 12 โรงเรียน

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และ กลุ่มอินทัช กล่าวว่า “เอไอเอสคำนึงถึงเรื่องการศึกษาซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ โดยเห็นผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์โควิด -19 ที่ต้องปรับให้มีการเรียน การสอนออนไลน์ เราจึงมุ่งมั่นนำศักยภาพของโครงข่ายอัจฉริยะ เข้ามายกระดับดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น รวมถึงสนับสนุนการทำงานของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคการศึกษาที่เป็นเสมือนกับรากฐานสำคัญของประเทศ ที่วันนี้การทำงานของ AIS Academy ได้เข้าไปทำงานร่วมกับภาคการศึกษาในมิติต่างๆ ผ่านโครงการ THE EDUCATORS THAILAND โครงการที่ส่งเสริมและมองไปที่บุคลากรต้นน้ำของระบบการศึกษาอย่างวิชาชีพครู ด้วยการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และบุคลากร วงการศึกษาชั้นนำของประเทศ เพื่อเชื่อมต่อ ช่วยเหลือ เพื่อครูไทย พัฒนาหลักสูตรเสริมทักษะสื่อการเรียนการสอนยุคใหม่ที่มีความสร้างสรรค์ สอดรับกับการศึกษาในยุคดิจิทัลแบบครบวงจรตั้งแต่ การวางโครงสร้างหลักสูตร เครื่องมือสื่อการสอน และการวัดประเมินผลผู้เรียน

ซึ่งผลจากโครงการนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงศักยภาพ และความมุ่งมั่นด้วยหัวใจของครูไทย ที่มีความปรารถนาอย่างยิ่งยวด ที่จะช่วยให้เด็กไทยได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุด แม้จะเกิดอุปสรรคจากการกักตัวเพราะโควิด 19 ผลงานทั้งหมดที่ส่งเข้าร่วมโครงการจึงล้วนแล้วแต่เป็นต้นแบบของการศึกษาในยุคดิจิทัล เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกัน ซึ่งเอไอเอส ขอแสดงความยินดีกับคณะครูที่ได้รับรางวัลในปีนี้ และขอขอบคุณบุคลากรทางการศึกษากว่า 1,200 ท่าน ที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้ เราเชื่อว่าโครงการ THE EDUCATORS THAILAND จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและช่วยปลุกพลังของภาคการศึกษา บุคลากร และครูไทย ที่จะมาร่วมเปลี่ยนหน้าตากระบวนทัศน์การศึกษาในยุคดิจิทัลให้สามารถเพิ่มพูนความรู้ให้แก่เยาวชนได้อย่างไม่มีข้อจำกัดแน่นอน”

โดย อ.สุรพจน์ บัวเขียว ประจำโรงเรียนคำเตยวิทยา จ.ยโสธร 1 ในผู้ชนะการประกวดเผยว่า “มีความปลื้มใจที่ AIS ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโครงข่ายอัจฉริยะเล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการศึกษาและจัดโครงการนี้ขึ้นมา ทำให้ตนได้พัฒนาศักยภาพ โดยต้องการสอนวิชาชีววิทยาให้เด็กเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย หลุดออกจากตัวหนังสือและการจดบันทึก ผ่านเรียนรู้จากการทดลองบนสถานที่จริง พร้อมตั้งมั่นว่าจะออกแบบการเรียนรู้ที่มีความหมาย ภายใต้ความหลากหลายของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น บนความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน จึงได้ผลิตสื่อการสอนผ่านผลงาน “วิทย์ชิดทุ่ง Science in the field” ซึ่งไม่เพียงแต่ประเมินผลจากนักเรียนที่มีความเข้าใจและมีส่วนร่วมอย่างดีแล้ว ยังเปิดกว้างให้นักเรียนทั่วประเทศได้เรียนรู้ผ่านทางออนไลน์ พร้อมมองว่าครูไทยยุคดิจิทัลต้องเป็นทั้งครูและครีเอเตอร์ครบในคนเดียว จากการเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้เชื่อมั่นว่าการศึกษาไทยสามารถยกระดับได้ ตนพร้อมนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปพัฒนาต่อยอดในการทำสื่อการสอนทั้งการถ่ายทำและการตัดต่อ พร้อมนำไอเดียผสานเข้ากับเทคโนโลยี และย้ำว่าไม่เพียงเด็กๆ เท่านั้นที่ต้องเรียนรู้ ครูไทยก็ต้องพัฒนาตัวเองเช่นกัน ดังเช่นที่ว่า Lifelong Learning ต้องเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต”

ด้าน อ.กฤษณะ วงศ์ริน จากโรงเรียนแกน้อยศึกษา จ.เชียงใหม่ เผยว่า “ตั้งใจผลิตผลงานการสอน TIME MACHINE ย้อยรอยสู่ประวัติศาสตร์ดนตรีไทย 4 สมัยในรูปแบบ AR และ VR เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องดนตรีไทยในรูปแบบใหม่โดยนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญเพื่อดึงดูดความสนใจ รวมถึงมีแบบทดสอบสะสมคะแนนเสมือนได้แข่งขันกับตัวเองและสร้างความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนไปในตัว อีกทั้งนำศิลปะแขนงต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในสื่อการสอน ทั้งการวาดภาพและการวาดทราย การร้องกลอนเพื่อสร้างความเข้าใจ เสริมด้วยการแต่งกายตามยุคสมัยโดยนำการตัดต่อเข้ามาช่วยซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากนักเรียนในโรงเรียนที่มีความตื่นเต้นกับสื่อการสอนใหม่ๆ พร้อมมองว่าไม่เพียงแต่นักเรียนเท่านั้นที่ได้ความรู้ ตนเองยังได้พัฒนาศักยภาพอีกด้วย รวมถึงค้นพบความสามารถและก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น โครงการ THE EDUCATORS THAILAND ถือเป็นทรัพยากรทางความรู้ที่ดี การผลิตสื่อการสอนชิ้นนี้ไม่เพียงเป็นการสอนในเรื่องดนตรีไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถบูรณาการไปปรับสอนในรายวิชาอื่นได้อีกด้วย”

สำหรับ อ.ศรัญธร พลสวัสดิกุล จากโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย จ.เชียงราย ได้ถ่ายทอดความรู้ในวิชาคณิตศาสตร์ให้เข้าใจง่ายขึ้นผ่านผลงาน Coding พร้อมกล่าวว่า “สื่อการสอนนั้นต้องมีการประยุกต์สิ่งต่างๆ เข้ามาเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่าย ยิ่งในวิชาที่มีความซับซ้อนอย่างการเขียน Code ตนได้นำเกมส์เข้ามาสอดแทรกให้เกิดการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้นและมีการแข่งขันกับตัวเอง อีกทั้งเป็นการฝึกแนวคิดการคำนวณไปในตัว พร้อมมองว่าสื่อการสอนออนไลน์มีข้อดีสำหรับผู้เรียนที่สามารถทบทวนบทเรียนซ้ำๆ ได้จนกว่าจะเกิดความเข้าใจ สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ตอบโจทย์เด็กที่อาจจะเรียนไม่ทันเพื่อน การได้ร่วมโครงการในครั้งนี้เสมือนได้พบปะครูที่มีอุดมการณ์เดียวกันที่ต้องการสร้างสื่อดีๆ ให้กับเด็กๆ และสะท้อนแง่คิดที่ว่า ครูต้องไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องมีการเติมน้ำซึ่งหมายถึงความรู้ตลอดเวลา และที่สำคัญต้องวิ่งตามเทคโนโลยีให้ทัน โครงการ THE EDUCATORS THAILAND จึงเรียกได้ว่าช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ อย่างครบถ้วนเพื่อนำไปต่อยอดในการสอนยุคดิจิทัล”

โครงการ “THE EDUCATORS THAILAND” ถือเป็นครั้งแรกที่ภาคเอกชนทำงานร่วมกับภาครัฐในการเปิดเวทีให้บุคลากรด้านการศึกษากว่า 1,000 คน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม Unlearn และ Relearn ทักษะการสอน ผ่านหลักสูตรที่ถูกออกแบบและพัฒนาโดย AIS Academy ร่วมกับ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยบุคลากรชั้นนำในวงการ ที่มีเนื้อหาในการพัฒนาทักษะ การสร้างนวัตกรรมการสอน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของภาคการศึกษายุคใหม่ให้สอดคล้องกับการบ่มเพาะนักเรียนยุค LFH (Learn From Home) ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของบุคลากรที่ร่วมสร้างประเทศในอนาคต โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องออกแบบหลักสูตร เครื่องมือสื่อการสอน ผลิตสื่อการสอนรูปแบบใหม่และการวัดประเมินผลผู้เรียน ซึ่งจากผลงานของ 10 บุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นเครื่องชี้วัดถึงการพัฒนาศักยภาพ ทักษะ ความสามารถ จุดประกายไอเดียผนวกเข้ากับเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ทำให้เป็นการยกระดับบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นต้นน้ำสำคัญเพื่อหล่อเลี้ยงไปยังปลายน้ำสายต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Scroll to Top