นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลทีมชนะเลิศการแข่งขัน ภารกิจคิดเผื่อ “JUMP THAILAND HACKATHON 2024” กับโจทย์ “เราจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการได้อย่างไร?” ตอกย้ำ ภารกิจคิดเผื่อ ที่เน้นย้ำว่า นวัตกรรมคือโอกาสแห่งการสร้างความเท่าเทียมของคนไทย พร้อมประกาศผลการตัดสิน โดยทีมชนะเลิศที่จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท คือ ทีม PATHSENSE และรางวัลที่ 2 คือทีม Autism ส่วนที่ 3 คือ ทีมหลานม่า ที่นอกจากจะได้รับรางวัลมูลค่ารวม 200,000 บาท ยังจะได้รับโอกาสในการร่วมงานกับ AIS หลังจบการศึกษา และการพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นจริงร่วมกับกระทรวง พม. ต่อไป
อนุกูล กล่าวว่า “ปัจจุบัน เรากำลังเผชิญกับ “วิกฤตประชากร” โครงสร้างประชากรของไทยมีการเปลี่ยนแปลง เด็กเกิดน้อยลง วัยแรงงานแบกรับภาระการดูแลเพิ่มมากขึ้น การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 13.06 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งกระทรวง พม. ได้มีนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร เพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 5 ข้อเสนอ ได้แก่ 1) เสริมพลังวัยทำงาน 2) เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3) สร้างพลังผู้สูงอายุ 4) เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าคนพิการ และ 5) สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อความมั่นคงของครอบครัว ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. และ AIS ในครั้งนี้ นับเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร โดยการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสะดวก และเท่าเทียมกับคนทั่วไป
กระทรวง พม. เชื่ออย่างยิ่งว่า ไอเดียและนวัตกรรมจากคนรุ่นใหม่ที่ได้จากโครงการครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากถูกต่อยอดพัฒนามาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการได้อย่างยั่งยืน ทั้งในมิติของการนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวก และยกระดับศักยภาพการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยและคนพิการ รวมถึงในมิติของการออกแบบนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการทำงานของบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีเครื่องมือในการทำงานที่มีประสิทธิภาพสามารถเชื่อมต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ตรงเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
อนุกูล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอชื่นชมและแสดงความยินดีกับทั้ง 15 ทีมที่ผ่านเข้ารอบในครั้งนี้ นับว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ และยิ่งรู้สึกดีใจ ที่เห็นคนรุ่นใหม่ มีเวทีแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ และยังเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ๆ ตัวพวกเราทั้งสิ้น”
กานติมา กล่าวเสริมว่า “หลังจากเปิดตัวโครงการ JUMP THAILAND HACKATHON 2024 กับโจทย์ “เราจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการได้อย่างไร?” ร่วมกับ กระทรวง พม. ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีนิสิต นักศึกษา ให้ความสนใจนำเสนอไอเดียอย่างมากมาย ซึ่งเมื่อทีมพนักงาน AIS ได้ลงไปร่วมพัฒนาไอเดียด้วยการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและแพล็ตฟอร์มเข้าไปผสมผสานแล้ว ทำให้วันนี้เราได้มาถึง 15 ไอเดีย ที่มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการนำไปต่อยอดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มคนพิการ และผู้สูงอายุได้อย่างตอบโจทย์”
“AIS เชื่อมั่นในศักยภาพคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะทางดิจิทัลและจิตสาธารณะ “Jump Thailand” เป็นโครงการที่ AIS Academy เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2018 เพื่อทำงานด้านส่งเสริมศักยภาพตลอดจนต่อองค์ความรู้ให้คนไทย ในครั้งนี้เราเปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา ร่วมกับพนักงาน AIS ได้นำเสนอโครงการที่หลากหลาย โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม มาสร้างประโยชน์ในการลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต แก้วิกฤติประชากร ที่น่าปลาบปลื้มใจคือเราได้เห็นความสามารถของน้องๆ นิสิต นักศึกษาในการสร้างสรรค์ นวัตกรรม เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พี่น้องกลุ่มเปราะบาง เปรียบเสมือนทุกท่านเป็น ไม้ขีดไฟก้านเล็กๆ ที่เราเชื่อว่าไม้ขีดไฟก้านเล็กๆทุกก้านนี้จะร่วมกันสร้างความสว่างไสว และจะเป็นแรงบันดาลใจ จุดประกายความคิดให้เกิดการส่งต่อให้ประเทศด้วยการคิดเผื่อแผ่กัน การทำงานจากทุกภาคเพื่อประชาชน จากนวัตกรรม ทักษะความรู้ และโอกาสใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่เราเชื่อว่าทั้ง 15 ไอเดีย จะเป็นแรงบันดาลใจ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับกลไกการดูแลประชาชน จากนวัตกรรม ทักษะความรู้ และโอกาสใหม่ๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ 3 ทีมที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ประกอบด้วย
- รางวัลที่ 1 : ทีม PathSense จากนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล พัฒนานวัตกรรมเพื่อคนพิการให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเอง ผ่านกระเป๋าสะพายข้างซึ่งมีการติดตั้งกล้อง AI เอาไว้ที่สายกระเป๋า ตัวกล้องมีความสามารถในการตรวจจับวัตถุและสิ่งกีดขวางต่างๆ เช่น บันได ประตู กำแพง และอื่นๆ ซึ่งอยู่ด้านหน้าของผู้สวมใส่ แล้วทำการแจ้งแก่ ผู้สวมใส่ผ่านทางหูฟังหรือลำโพงโทรศัพท์
- รางวัลที่ 2 : ทีม AUTISM จากนิสิตนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศิลปากร พัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์มสื่อสารการทำงานสำหรับผู้มีภาวะออทิสติก (Autism spectrum disorder: ASD) เพื่อสร้างอาชีพไปพร้อมกับการบำบัด โดยนำอาการของผู้มีภาวะออทิสติก มาปรับใช้ร่วมกับ AI ทำให้การสื่อสารในการทำงานระหว่างผู้มีภาวะออทิสติกด้วยกันเอง และผู้มีภาวะออทิสติกกับบุคคลทั่วไปเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- รางวัลที่ 3 : ทีม หลานม่า จากนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนานวัตกรรมเข็มขัดตรวจจับการล้มกระตุ้น AirBag พร้อมติดต่อญาติ หรือรถโรงพยาบาล ผ่านสัญญาณ Cellular , DevioBeacon ของ LINE OA
“ทุกธุรกิจจะเติบโตอย่างแข็งแรงมั่นคงได้ยาก หากสังคมภายนอกยังมีความท้าทาย AIS เราจึงเชื่อในเรื่องของการเติบโตแบบร่วมสร้างและสำนึกสาธารณะ การสร้างโครงการ ภารกิจคิดเผื่อ ที่เปิดพื้นที่ให้กับพนักงานในการส่งต่อความรู้ สร้างอาชีพกับประชาชน และการทำงานร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาสังคม ต้องขอขอบพระคุณ กระทรวง พม. ที่ให้โอกาส AIS ได้เข้าไปทำงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้วยกัน โดยยืนยันที่จะเดินหน้าตามเจตนารมณ์นี้อย่างต่อเนื่อง เพราะงานลักษณะนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่โครงการแข่งขันเพื่อวัดขีดความสามารถของนิสิต นักศึกษา ที่สนใจเรื่องนวัตกรรมเพียงเท่านั้น แต่เป็นโครงการต้นแบบที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มคนพิการให้มีศักยภาพในการดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งสามารถดูข้อมูลรายละเอียดของ 15 ไอเดีย ได้ที่ www.jumpthailand.com หรือ https://www.facebook.com/AISJumpThailand เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่าง AIS Academy และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” กานติมา กล่าวย้ำในตอนท้าย
–คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จ เผยความสำคัญของภาษาอังกฤษ สำหรับนักศึกษาแพทย์จากประเทศไทย