ดีอีเอส – ดีป้า ร่วมประชุม ศธ. เดินหน้าส่งเสริมการเรียนรู้โค้ดดิ้ง ขับเคลื่อนสู่ทักษะพื้นฐานรองรับอาชีพยุคใหม่ของคนทุกวัย

ดีอีเอส - ดีป้า ร่วมประชุม ศธ. เดินหน้าส่งเสริมการเรียนรู้โค้ดดิ้ง ขับเคลื่อนสู่ทักษะพื้นฐานรองรับอาชีพยุคใหม่ของคนทุกวัย

กระทรวงดิจิทัลฯ และ ดีป้า ร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) แห่งชาตินัดแรกปี 2566 ร่วมแลกเปลี่ยนผลสำเร็จการดำเนินงานส่งเสริมการเรียนรู้โค้ดดิ้ง เพื่อการพัฒนากำลังคนดิจิทัล พร้อมขับเคลื่อนสู่ทักษะพื้นฐานรองรับอาชีพยุคใหม่ของคนทุกวัย

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ตามที่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ มอบหมายให้ ดีป้า เร่งสร้างกำลังคนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์ภาคเอกชนที่มีปริมาณความต้องการบุคลากรดิจิทัลราวแสนคนต่อปี ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ อีกทั้งเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจดิจิทัลไทยเดินหน้าอย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ

รู้จัก ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กับแนวคิดเตรียมพร้อม-โอกาส-อนาคต

โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญคือ การสร้างการรับรู้ กระตุ้นความสนใจทักษะด้านโค้ดดิ้ง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างการเรียนรู้แบบ Lifelong Learning แก่เด็ก เยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้สูงวัย ภายใต้แนวคิด Coding for Better Life ซึ่ง ดีป้า ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 สามารถพัฒนาเยาวชนและบุคลากรครูกว่า 4.1 ล้านคน โดยเริ่มจากการบูรณาการการทำงานกับเครือข่ายพันธมิตรในการสร้างการรับรู้และกระตุ้นความสนใจการเรียนรู้ทักษะโค้ดดิ้งผ่านโครงการ Coding Thailand ก่อนนำร่องโมเดล Coding School โดยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสู่ศูนย์การเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้ง และผนึกกำลังพันธมิตรภาคการศึกษายกระดับครูผู้สอนทั่วประเทศ จากนั้นขยายผล Coding School เต็มรูปแบบ และผนวกการเรียนรู้ทักษะโค้ดดิ้งเข้ากับ STEM, IoT, AI

นอกจากนี้ ดีป้า ในนาม กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech Startup) เพื่อเสริมระบบนิเวศการเรียนโค้ดดิ้ง ช่วยยกระดับทักษะด้านโค้ดดิ้งและเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้สำหรับนักเรียน นักศึกษา จำนวน 2 โครงการคือ MARVELOUS และ KID HERO โดยตั้งเป้าพัฒนาเด็กไทยมากกว่า 300,000 คนต่อปี ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดถือเป็นการยกระดับเยาวชนไทยและครูผู้สอนอย่างเข้มข้น เพื่อก้าวเข้าสู่เวทีการแข่งขันด้านโค้ดดิ้งระดับจังหวัด ภูมิภาค และประเทศ อีกทั้งเป็นการขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

สำหรับโครงการ Coding School Champions สามารถส่งเสริมศูนย์การเรียนรู้โค้ดดิ้งใน 52 จังหวัด จำนวน 132 โรงเรียน และเพิ่มโอกาสให้เด็กไทยสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งมากกว่า 100,000 คน พร้อมตั้งเป้าขยายผลสู่ 1,500 โรงเรียน ขณะเดียวกัน ดีป้า ยังสามารถยกระดับทักษะด้านโค้ดดิ้งด้วยการติดอาวุธครูผู้สอนกว่า 1,100 คนผ่านโครงการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อคุณครู (depa Teacher Boost Camp) โครงการยกระดับครูดิจิทัล (dTeachers) และโครงการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อคุณครู ซีซัน 2 (depa Teacher Boost Camp Season 2) และสามารถพัฒนาเด็กรุ่นใหม่กว่า 2,800 คนผ่านโครงการ Coding in your area โครงการ CodeKATHON และโครงการ CODING FOR METAVERSE

นอกจากนี้ ดีป้า ยังดำเนินโครงการรัฐร่วมเอกชนสร้างทักษะดิจิทัลใหม่ เรียนจบไม่ตกงาน โดยส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาวัยหางาน และบัณฑิตจบใหม่ โดยสนับสนุนเงินเดือนไม่เกิน 50% แก่ภาคเอกชนที่ต้องการจ้างงานกำลังคนในสาย IT เป็นระยะเวลา 1 ปี และร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สนับสนุนเงินเดือนไม่เกิน 50% แก่ภาคเอกชนที่ต้องการจ้างงานกำลังคนในสาย Non IT ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านมาทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล ระยะเวลา 1 ปี รวมทั้งสิ้น 120 อัตรา เพื่อให้กำลังคนเหล่านั้นเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ
ภาคเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

พร้อมกันนี้ยังจัดให้มีการดำเนินการยกระดับทักษะดิจิทัลผ่าน HACKaTHAILAND Online Learning Platform ภายใต้โครงการ HACKaTHAILAND 2023: DIGITAL INFINITY โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถร่วมเรียนรู้ และพัฒนาทักษะดิจิทัลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อต่อยอดอาชีพในอนาคต เดินหน้าพัฒนาทักษะดิจิทัลกลุ่มผู้สูงวัยให้มีความพร้อมสู่สังคมดิจิทัลผ่านการ Reskill และ Upskill ยกระดับทักษะดิจิทัลแก่กลุ่ม MID-Career รวมถึงผู้พิการและกลุ่มเปราะบางผ่านการพัฒนาทักษะสู้ภัยไซเบอร์ด้วยการสร้าง Cyber Awareness, Cyber Security และ White Hacker เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ให้กับประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

Scroll to Top