ประเทศจะพัฒนาต่อได้ไปไกลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าคนในประเทศนั้นๆ มีความรู้ ความสามารถมากขนาดไหน ประเทศที่รวมตัวไปด้วยคนมีความสามารถก็จะได้เปรียบ ขณะเดียวกันประเทศที่คนมีความสามารถน้อยกว่าก็จะพัฒนาต่อไปได้ยากกว่า การเพิ่ม “ทุนมนุษย์” จึงมีความสำคัญและเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่หลายๆ ประเทศใช้โดยมีวิธีการที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือการสร้างความรู้ผ่านการอ่านหนังสือ
TK Park เป็นหนึ่งในห้องสมุดสาธารณะของประเทศไทย ที่เดินหน้าผลักดันให้คนไทยมีความรู้เพิมขึ้นผ่านการอ่านหนังสือ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงความรู้ของคนไทยให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน
กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า คนมักจะวัดว่าสิ่งที่ลงทุนไปนั้นจะตอบแทนกลับมามากเท่าไร แต่การลงทุนในเชิงความรู้นั้นมันเป็นรากฐาน เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็จะต้องยืนอยู่บนฐานของความรู้ ซึ่งทั่วโลกมีดัชนีชี้วัดทุนมนุษย์ โดยไม่ได้ดูแค่ระดับการศึกษาอย่างเดียว แต่ดูเรื่องสุขภาพด้วย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ต้องสู้กับความเหลื่อมล้ำที่คอยฉุดลงไปพอสมควร เพราะเด็กที่มาจากครอบครัวที่ได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจ มักจะเรียนรู้ได้ดีกว่าหรือไปได้ไกลกว่า ซึ่งเป็นหน้าที่ของพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะอย่าง TK Park ที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำน้อยลง มีช่องว่างแคบลง
ถึงแม้ว่าปัจจุบัน TK Park จะมีพื้นที่ต้นแบบอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว แต่ได้นำโมเดลห้องสมุดสาธารณะกระจายไปทั่วประเทศ
“ปัจจุบันเรามีห้องสมุดสาธารณ 31 แห่งใน 24 จังหวัด ร่วมมือกับ อบจ. หรือ เทศบาล เพื่อไปสร้างพื้นที่ลักษณะเดียวกับ TK Park ในต่างจังหวัด ขณะที่มีสเกลแบบตู้คอนเทนเนอร์ ประมาณ 300 แห่งทั่วประเทศ กระจายอยู่ตามโรงเรียน หรือตามห้องสมุดของกระทรวงศึกษาในต่างจังหวัด”
“เราพยายามสร้างระบบนิเวศทั่วประเทศ แต่เราคนเดียวคงทำไม่สำเร็จ จึงต้องเชื่อมโยงระบบการให้บริการ ซึ่งข้อได้เปรียบคือเรามีห้องสมุดที่เป็นออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีหลากหลายพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมมือกับเรา” กิตติรัตน์ กล่าวเสริม
ล่าสุด TK Park ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน TK Read เป็นห้องสมุดดิจิทัลสาธารณะ มีสื่อรวมกว่า 5,000 รายการ ประกอบด้วย หนังสือจากสำนักพิมพ์ชื่อดัง สื่อการเรียนรู้ มีบริการ E-Book ภาษาไทยจากสำนักพิมพ์ต่างๆ กว่า 3,482 เล่ม E-Magazine 791 เล่ม หนังสือเสียง 529 เล่ม และคอร์สเรียนออนไลน์ 172 คอร์ส
–วิศวะฯ มธ. เปิดตัว 4 หลักสูตรใหม่ “วิศวะฯ นานาชาติเชิงบูรณาการ”
กิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ถึงแม้จะสร้างพื้นที่ออนไลน์เพิ่มขึ้น พื้นที่ออฟไลน์ก็ยังมีความจำเป็น เพราะคนที่เข้ามาใช้บริการใน TK Park เวลายืมหนังสือ มักจะยืมเพื่อกลับไปอ่านที่บ้าน และใช้พื้นที่เพื่อการทำงาน เพื่อพบปะเพื่อนฝูง หาข้อมูล
“สมองคนมันทำงานหลายมิติ บางอย่างเราทำในดิจิทัลได้ แต่บางอย่างก็ยังต้องทำแบบอนาล็อก เหมือนเวลาประชุมออนไลน์ที่สะดวกสบาย แต่เมื่อมาเจอหน้ากันก็จะได้ข้อมูลที่มากขึ้นเพราะเราได้เห็นภาษากาย ซึ่งการที่มีพื้นที่ออนไลน์นั้นจะเข้ามาช่วยเสริมการทำงาน แต่ไม่ได้เข้ามาทดแทน เราจึงต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งสองโลกนี้ไปพร้อมๆ กัน”
Gen Z หันมาอ่านหนังสือมากขึ้น
ส่วนหนึ่งที่ TK Park หันมารุกตลาดออนไลน์มากขึ้น เพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไป และอีกส่วนหนึ่งคือ กลุ่มคน Gen Z ที่หันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น ปัจจุบัน TK Park มีสมาชิก Gen Z 9,600 คน จาก 26,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด
กิตติรัตน์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากลุ่ม Gen Z ต้องการมีส่วนร่วม ชอบคิด ติดต่อ ซึ่งการอยากมีส่วนร่วมจะต้องหาข้อมูลเชิงลึก ขณะที่คนรักการอ่านอย่างห้องสมุดแบบ TK Park เกิดขึ้นในหลายๆ ที่ ให้คนกลุ่มนี้เข้าไปใช้พื้นที่ได้ และยังมีพื้นที่ในโลกออนไลน์
ขณะที่ Social Media ก็มีความรู้ซ่อนอยู่ในนั้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ได้รับการกระตุ้นจากการให้ความรู้หลากหลายช่องทาง ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
ปรับกลยุทธ์ตามความต้องการของลูกค้า
ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา TK Park มียอดการยืมหนังสือในห้องสมุดกว่า 4 แสนเล่ม เทียบกับปี 2564 ที่มียอดยืมเพียง 115,000 เล่มเท่านั้น หรือเติบโตขึ้นถึง 200% โดยหนังสือที่ได้รับความนิยมตามลำดับ ได้แก่ แนวการ์ตูนความรู้ วรรณกรรมแปล นวนิยายไทย การ์ตูนมังงะ ธุรกิจการลงทุน จิตวิทยาพัฒนาตนเอง เปิดโลกภาษา
“เราเก็บข้อมูลลูกค้าจากพฤติกรรม การใช้บริการกับเรา โดยดูว่าเขายืมหนังสือประเภทใด ชอบเข้ามาร่วมกิจกรรมประเภทใด ซึ่งเราเรียนรู้จากความต้องการของคนกลุ่มนี้ และปรับให้ตรงกับความต้องการ ซึ่งเราตามความต้องการลูกค้าทุกกลุ่มโดยไม่ได้วัดที่อายุ ถึงแม้ว่า Gen Z จะเป็นสมาชิก 1 ใน 3 ของเรา”
กิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า กลุ่มเด็กที่สมัครเข้ามา พ่อแม่จะเข้ามาสมัครด้วย เพราะฉะนั้นเวลาทำกิจกรรม ก็จะโฟกัสไปที่เด็กส่วนหนึ่ง และมีส่วนที่เป็นกิจกรรมของพ่อแม่ด้วย เช่น แนะนำแนวทางการเลี้ยงลูก หรือการสอนทักษะการเรียนรู้ให้กับลูก เป็นลักษณะ Learning Designer ที่สอนให้กับพ่อแม่
ขณะที่เด็กที่สนใจเรื่อง Self-Learner หรือ Lifelong Learner เป็นเทรนด์การเรียนรู้ด้วยตัวเองที่มาแรงมาก เด็กบางกลุ่มปฏิเสธการศึกษากระแสหลัก เพราะอยากจะมีช่องทางของตัวเอง ซึ่งจะเห็นว่ามีพ่อแม่เริ่มทำโฮมสคูลมากขึ้น ซึ่งห้องสมุดหรือพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะเหล่านี้ที่ราคาไม่แพง จะเป็นโซลูชันที่ทุกเมือง ทุกประเทศ ต้องมี
เพิ่ม “ทุนมนุษย์” เด็กไทยสู่ Global Citizen
สำหรับเป้าหมายของ TK Park และ เป้าหมายส่วนตัวของ กิตติรัตน์ คือ อยากเห็นเด็กไทยมีช่องทางการเรียนรู้ในสิ่งที่อยากเรียน รวมไปถึงการยอมรับของภาคเอกชน ซึ่งหลายองค์กรเริ่มถามเด็กที่เพิ่งเรียนจบมาว่า ทำงานอะไรได้บ้าง มีทักษะอะไรบ้าง มากกว่าเรียนจบอะไรมา
“เราเริ่มเห็นสังคมลักษณะนี้ในต่างประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทต่างๆ หันมาทำงานแบบรีโมทกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานด้านเทคโนโลยี เราอยากให้คนไทยเป็น Global Citizen เพิ่มมากขึ้น สามารถทำงานได้โดยไม่มีพรมแดน ซึ่งการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ จะต้องเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลา หาความรู้ใหม่ใส่ตัวตลอดเวลา ซึ่งพื้นที่การเรียนรู้สาธารณะลักษณะนี้จึงจำเป็น ที่จะทำให้คนได้เรียนรู้อย่างอิสระ และไม่เป็นต้นทุนในชีวิตของพวกเขา”
กิตติรัตน์ กล่าวในตอนท้ายว่า TK Park พยายามพัฒนาบริการและสื่อต่างๆ ให้หลากหลายมากขึ้น สมาชิกสามารถเข้ามาใช้บริการอินเทอร์เน็ต ยืมหนังสือ หรือนั่งทำงาน และยังมีบอร์ดเกม มีเครื่องดนตรี ให้ยืมอีกด้วย นอกจากนี้ในอนาคตยังวางแผนจะมีสิ่งของต่างๆ เช่น อุปกรณ์ซ่อมรถ เครื่องครัว ให้ยืม คล้ายกับที่ห้องสมุดทั่วโลกให้ยืมเพื่อนำไปเรียนรู้อีกด้วย
สำหรับค่าบริการของ TK Park อยู่ที่ 200 บาทต่อปี สำหรับผู้ใหญ่ และ 100 บาทต่อปีสำหรับเด็ก