อย่างที่รู้กันว่า บล็อกเชน (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีที่กระจายอำนาจ (Decentralized) มีความน่าเชื่อถือ หลายธุรกิจจึงหันมาพัฒนาบล็อกเชนกันมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านการเงิน เพราะต้องการความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจในระดับสูง สำหรับภาคการศึกษานั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน แต่ก็สามารถนำบล็อกเชนเข้ามาในโลกการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กยุคใหม่ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ และสามารถนำความรู้ไปต่อยอด หรือเป็นพื้นฐานความรู้ติดตัวเมื่อถึงวันที่ต้องเข้าสู่วงการธุรกิจในโลกอนาคตได้
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในไทยเริ่มตื่นตัวกับการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้กับภาคการศึกษามากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างมาตรฐานของความน่าเชื่อถือ เพราะการออกเอกสารผ่านบล็อกเชนนั้นจะไม่สามารถแก้ไขหรือปลอมแปลงได้ อีกส่วนหนึ่งเพื่อสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ผ่านโลก Metaverse ซึ่งต้องใช้บล็อกเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการทำธุรกรรมต่างๆ เช่นเดียวกัน
แต่การจะทำธุรกรรมต่างๆ บนบล็อกเชนนั้น จะต้องมีค่า Gas Fee หรือค่าธรรมเนียม จะทำอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียม ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ หากเลือกเชนที่ไม่เหมาะสมแต่แรก ระบบก็จะไปต่อยาก
xCHAIN เป็นบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนแบบ non-profit organization มีพันธกิจเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคการศึกษาได้ใช้งาน ด้วยค่าธรรมเนียมต่ำที่สุด และแทบจะไม่มีความผันผวน
–ส่องธุรกิจ “บลูบิค” กับเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นบริษัทที่น่าลงทุน
ชญาน์นัทช์ ไชยวัฒนพงศ์ Co-Creator xCHAIN กล่าวว่า ความแตกต่างของ xCHAIN คือพันธกิจที่ไม่แสวงหากำไร จะไม่ทำเหรียญออกมาให้คนปั่นราคา แต่จะช่วยวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดพร้อมกับตัดกลไกการเก็งกำไรออกไป เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จากเชนอย่างแท้จริง
เพราะหากใช้เหรียญที่ราคาขึ้นลงได้ มหาวิทยาลัยหรือผู้ประกอบการ ที่กำลังพัฒนาโครงสร้างเหล่านี้ให้นักศึกษาใช้ เป็นผู้แบกค่าธรรมเนียม ซึ่งเกือบ 100% ของคนที่นำเชนไปใช้ ผู้ประกอบการจะเป็นผู้แบกรับค่าธรรมเนียม หมายความว่าเวลาเหรียญราคาขึ้น ค่าธรรมเนียมก็จะขึ้นไปด้วย ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยง xCHAIN จึงเข้ามาลดทุกกระบวนการที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้มากที่สุด (ปัจจุบัน Gas Fee อยู่ที่ 10-25 สตางค์)
ซึ่ง xCHAIN ใช้หลักการ Stable Price โดยใน White Paper จะมีข้อกำหนดว่า ทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี จะต้องกลับมารีวิวกันว่าราคาเหรียญควรจะปรับขึ้นหรือปรับลง หลังจากปรับเหรียญก็จะคงราคานั้น จนกว่าจะมีการประกาศราคาใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจว่าราคาเหรียญจะไม่วิ่งขึ้นลง แต่จะกำหนดราคาตามความเหมาะสม ซึ่งหมายความว่าทุก Node ของสถาบันการศึกษาจะต้องลงความเห็นตรงกันว่าจะใช้ราคาเท่าไร
xCHAIN ผลักดันการศึกษายุคใหม่
ไม่เพียงแต่การควบคุมค่าธรรมเนียมให้ต่ำ แต่ ชญาน์นัทช์ ยังต้องการช่วยให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จักโลกของ Web 3.0 ที่เกิดจากการนำบล็อกเชนมาใช้ มากขึ้น
ชญาน์นัทช์ กล่าวว่า ปัจจุบัน DApp หรือ Decentralized Application (แอปพลิเคชันแบบกระจายอำนาจ) ต่างๆ ในประเทศไทย มาจากคนรุ่นใหม่ อายุ 20 ต้นๆ ที่พัฒนาระบบเอง มีไอเดียธุรกิจเป็นของตัวเอง เพียงเพราะว่าคนกลุ่มนี้รู้เรื่องนี้มากกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นในภาคการเรียนการสอนมันเป็นการติดอาวุธให้เด็กรุ่นใหม่ ทำให้คนที่ไม่รู้ได้รู้ สำหรับโอกาสทางธุรกิจยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ซึ่ง DApp สามารถแตกไปในหลายธุรกิจได้
“แต่สิงที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ เรามีนักพัฒนาไม่เพียงพอกับความต้องการ เราจึงอยากเข้าไปสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศ เกิดคอมมูนิตี้ที่จะมาแชร์องค์ความรู้เหล่านี้”
ชญาน์นัทช์ ยังมองว่า มหาวิทยาลัยสามารถทำแอปพลิเคชัน ให้นักศึกษาเข้าใจกับการใช้บล็อกเชนเข้ามาแก้ปัญหาได้ เช่น ระบบเช็คอินและเช็คเอาท์ที่รู้ได้ว่านักศึกษาคนไหนเป็นผู้เข้าและออก นอกจากจะทำให้มหาวิทยาลัยจัดการได้ง่ายขึ้น ยังสามารถใส่ลูกเล่นเข้าไปเพิ่มได้ เช่น นักศึกษาที่เช็คอินร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยหลายครั้ง จะได้รับแต้มผ่านแอปพลิเคชัน และสามารถนำแต้มไปใช้แลกสินค้าหรือบริการภายในมหาวิทยาลัยได้
อีกส่วนหนึ่ง คือ การทำ NFT Certificated ซึ่งต้องใช้บล็อกเชน ซึ่งปัจจุบันพบว่าฝ่ายบุคคลใช้เวลามากในการสกรีนคนเข้าทำงาน โดยที่ไม่รู้ว่ารายละเอียดที่ได้รับมานั้นจริงหรือปลอม ต้องไปเสียเวลายืนยันกับสถาบัน ว่าเด็กคนนี้จบจากสถาบันนี้จริงหรือไม่ ซึ่งบล็อกเชนจะเข้ามาแก้ปัญหานี้ทั้งหมด เพราะระบบจะรู้ว่าใบรับรองนี้ออกจากมหาวิทยาลัยไหน และยังมี Node จากมหาวิทยาลัยอื่นช่วยยืนยันความถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะเข้ามาสร้างความน่าเชื่อถือในวงการการศึกษาได้มากขึ้นแล้ว ยังลดภาระการใช้เอกสารกระดาษ จากระบบต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ได้อีกมาก
“ถึงแม้ว่าภาครัฐอย่างกระทรวง อว. จะเข้ามาสนับสนุนการใช้บล็อกเชนและ Metaverse กับภาคการศึกษาแล้ว แต่การพัฒนาระบบก็ยังต้องเริ่มต้นจากเล็กๆ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ก็ช่วยทำให้การสื่อสารกับมหาวิทยาลัยง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้เราทำ U2T : University to Tambon ร่วมกับ อว. คู่ขนานไปด้วย โดยให้มหาวิทยาลัยทั้งหมดเข้ามาอยู่ในโครงการนี้ เพื่อพัฒนาบุคลากรของตัวเองกับชุมชน มหาวิทยาลัยกับชุมชนจะต้องจับคู่การเพื่อพัฒนาอะไรบางอย่าง ซึ่งมีเป้าหมายคือทำให้เกิดการจ้างงาน ให้รายได้เศรษฐกิจดีขึ้น”
ใช้ Passion เป็นแรงผลักดัน
การเข้ามามีบทบาททางด้านการศึกษาของ ชญาน์นัทช์ นั้นเกิดจาก Passion ส่วนตัวที่ต้องการผลักดันการศึกษาไทย อยากให้เด็กไทยมีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งที่ชอบ และได้เติบโตไปสายงานที่ตัวเองชื่นชอบ
“กว่าที่เราจะรู้ว่าอยากเรียนอะไรก็สายเกินไปแล้ว ส่วนตัวจบบัญชีเกียรตินิยมอันดับ 1 แต่เราไม่ได้อยากเรียน ถึงแม้จะทำได้ดี เรารู้สึกว่าเราพลาดอะไรหลายอย่างไปในชีวิต ต้องไขว่คว้าหาเรียนเอง”
ชญาน์นัทช์ เล่าต่อว่า ตนเองเกิดในยุคอนาล็อก โตมาในยุคดิจิทัล ทำงานในยุคที่มีเทคโนโลยีมากมาย หลายคนที่เกิดในยุคเดียวกันไม่รู้จักคำว่าบล็อกเชน ไม่รู้ว่ามันทำงานอย่างไร จึงอยากจะเป็นตัวเชื่อมตรงกลาง ระหว่างเทคโนโลยีใหม่กับคนที่ไม่รู้อะไรเลย ได้ใช้ประโยชน์กับเทคโนโลยีที่มาอยู่ในชีวิตได้จริง ซึ่งคนที่มีโอกาสมากขึ้นนั้นจะไม่ใช่เฉพาะนักศึกษา แต่คนที่โตมาในยุคเปลี่ยนผ่านก็จะมีโอกาสมากขึ้นเช่นกัน เป็นกลุ่มคนที่ใหญ่มากในประเทศไทย
และถ้าเด็กในยุคถัดไปมีโอกาสด้านการศึกษามากขึ้น ได้เรียนรู้อะไรเร็วขึ้น ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้คนมีโอกาสในชีวิตมากขึ้น ขณะเดียวกันภาคการศึกษาก็ดีขึ้นด้วย
“เราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่ร่วมมือกัน สิ่งที่เราทำอยู่มันเป็นประโยชน์กับประเทศไทยในอนาคต อยากจะชวนคนที่เชื่อเหมือนกันเข้ามาร่วมมือกัน สิ่งสำคัญมากคือจะต้องเปิดใจให้กับเทคโนโลยีใหม่ เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเองอย่างมากด้วยเช่นกัน” ชญาน์นัทช์ กล่าวในตอนท้าย