วิศวะฯ มธ. พลิกโฉมสถาบันการศึกษา สู่ ‘เพื่อนซี้ Gen Z’ รับการเรียนยุคใหม่

วิศวะฯ มธ. พลิกโฉมสถาบันการศึกษา สู่ ‘เพื่อนซี้ Gen Z’ รับการเรียนยุคใหม่

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE รุดปรับบทบาท “สถาบันการศึกษา” สู่ “เพื่อนซี้ต่างวัยของ Gen Z” ช่วงวัยที่มาพร้อมความกล้าคิด กล้าทำ ตั้งคำถาม รองรับการเรียนวิศวกรรมยุคใหม่ ประเดิมปีการศึกษา 2566 เปิดคลาสเรียนออนไซต์ “Discussion Class” หรือห้องเรียนเพื่อการอภิปราย สำหรับรายวิชาที่เกี่ยวเนื่องกับทักษะวิชาชีพ เน้นเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นและซักถามกับผู้สอนได้ หนุนกระตุ้นการเรียนรู้เด็ก Gen Z’เสริมทักษะการปรับตัวให้พร้อมก้าวสู่โลกการทำงาน คู่ขนานกับรูปแบบออนไลน์อย่าง “e-Learning” (อีเลิร์นนิ่ง) ที่เน้นรายวิชาศึกษาทั่วไปที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้

ทั้งนี้ การเปิดตัวโฉมใหม่ วิศวะฯ อินเตอร์ มธ. ในงาน TEP-TEPE : The Next Concept of Engineering Education ปฐมบทใหม่ของการเรียนวิศวกรรมเชิงบูรณาการ กำลังจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 – 15.00 น. ณ TSE co-working Space ชั้น 1 วิศวะฯ มธ. (ศูนย์รังสิต) โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.engr.tu.ac.th และ Facebook Fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT

รองศาสตราจารย์ ดร.นภดล อุชายภิชาติ รองคณบดีฝ่ายบริหารหลักสูตรนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เผยว่า ปัจจุบันเด็กเจนแซด (Gen Z) มาพร้อมความกล้าในการแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม และค้นคว้าหาความรู้ในหลากหลายช่องทางได้อย่างชาญฉลาดและแตกต่าง ด้วยเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันที่เอื้อต่อการสืบค้นข้อมูลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด สถาบันการศึกษา จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อดึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่มาต่อยอด

พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นเสมือนเป็น “เพื่อนซี้ Gen Z” (เพื่อนซี้เจนแซด) รับการเรียนยุคใหม่ ผ่านการเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ได้ตั้งคำถาม โดยมีผู้สอนคอยสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพ (coaching) และนำไปสู่การค้นพบทางออกที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมศักยภาพนักศึกษาให้เด่นชัดแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการลดช่องว่างและสร้างความใกล้ชิดระหว่างคณาจารย์กับนักศึกษา

วิศวะฯ มธ. แนะ 5 ทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็ก Gen Z ด้วยส่วนผสมที่ลงตัวกับโลกอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.นภดล กล่าวต่อว่า ในปีการศึกษา 2566 นี้ TSE ได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ที่ผสมผสานจุดเด่นของการเรียนออนไลน์ (Online) ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของเด็ก Gen Z ที่มีประสบการณ์การเรียน และนำไปใช้ร่วมกับการเรียนออนไซต์ (On-site) จึงเป็นที่มาของการสอนแนวใหม่ ที่เน้นการผสมผสาน ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด การนำเสนอ รวมถึงการต่อยอดทักษะและกระบวนการแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยหลักวิศวกรรม

ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีของ TSE ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นและซักถามกับอาจารย์ผู้สอนภายในห้องเรียนอย่างเปิดกว้าง ตลอดจนเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ การปรับตัวของคนรุ่นใหม่ในบริบทการเรียนและการทำงานในอนาคต ที่มีโอกาสพบเจอกับผู้คนที่หลากหลาย อีกทั้ง TSE ยังมีการสอนออนไลน์ในรูปแบบ “e-Learning” (อีเลิร์นนิ่ง) ที่ช่วยให้นักศึกษาเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างอิสระ โดยมุ่งเน้นในรายวิชาศึกษาทั่วไปที่นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากที่บ้าน

นอกจากนี้ TSE ยังได้สนับสนุนเทคโนโลยีการเรียนรู้แก่นักศึกษาด้านการปฏิบัติเชิงวิศวกรรม เพื่อส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปในสถานการณ์โควิด-19 ทดแทนการปฏิบัติการในห้องแล็บ โดย TSE ได้นำซอฟต์แวร์ในการคำนวณงานทางวิศวกรรมชั้นสูง อาทิ MATLAB และอื่น ๆ เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจ สามารถสร้างแบบจำลอง อาทิ การเรียนรู้การสร้างระบบ AI (เอไอ) หรือแมชชีน เลิร์นนิ่ง (Machine Learning) ได้ด้วยตนเองจากที่บ้านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

นับเป็นโอกาสที่ดีของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ที่สามารถเข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ มาช่วยแก้ไขปัญหาด้านวิศวกรรมหรือช่วยในการเก็บข้อมูลต่างๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อันจะช่วยหล่อหลอมให้บัณฑิตสามารถก้าวสู่การเป็น “วิศวกรคุณภาพ” ที่พร้อมตอบโจทย์การทำงานของโลกอนาคต

“ในอนาคตอันใกล้นี้ TSE เตรียมปรับปรุงหลักสูตรใหม่รองรับเทรนด์วิศวกรรมในยุคต่อไป ที่มิได้มุ่งเจาะทักษะหรือความเชี่ยวชาญเพียงสาขาเดียวเท่านั้น ผ่านการวิเคราะห์เทรนด์การเรียนวิศวกรรม การเชื่อมโยงหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม สู่การพัฒนาบัณฑิต TSE ให้มีความครบเครื่องและพร้อมก้าวสู่โลกการทำงานในอนาคต อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ มีความสนุกมากขึ้นกว่าในอดีต จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึง หรือพัฒนาสิ่งที่คิดออกเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานในกระบวนการต่างๆ ได้อย่างมืออาชีพ

ซึ่ง TSE พร้อมแล้วในการเปิดรับน้อง ๆ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้ามาเรียนรู้ด้านวิศวกรรมยุคใหม่ ที่เตรียมเปิดตัวต่อสื่อมวลชน พร้อมเปิดเผยรายละเอียดภายในงาน TEP-TEPE : The Next Concept of Engineering Education ปฐมบทใหม่ของการเรียนวิศวกรรมเชิงบูรณาการ ในวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2565 เวลา 13.00 – 15.00 น. ณ TSE co-working Space ชั้น 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ซึ่งน้อง ๆ ที่สนใจสามารถติดตามรายเอียดเกี่ยวกับการเปิดตัวปฐมบทใหม่ของการเรียนวิศวกรรมเชิงบูรณาการของ TSE สามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง Facebook Live ที่เพซบุ๊คแฟนเพจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” รองศาสตราจารย์ ดร.นภดล กล่าวทิ้งท้าย

Scroll to Top