ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำตัวรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) กล่าวว่า ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการสร้างการเรียนรู้ของชุมชน ระหว่างมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย กระทรวงมหาดไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกระทรวงศึกษาธิการ โดยคาดว่า MOU ดังกล่าวจะแล้วเสร็จและจะมีการลงนามความร่วมมือทั้ง 4 ฝ่ายได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้
ดรุณวรรณ กล่าวว่า สำหรับการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทั้ง 4 ฝ่ายในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการสร้างศักยภาพ การผลิตชลกรและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ท้องถิ่นและคณะกรรมการลุ่มน้ำสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
–เปิด 3 หลักสูตร ดับเบิ้ลดีกรีลาดกระบัง เรียนครั้งเดียวคว้า 2 ปริญญา
–ดีป้า เผยผลสำเร็จโครงการ The Smart City Ambassadors รุ่นที่ 1 สร้างงานให้เยาวชนพร้อมก้าวสู่การเป็น ‘นักพัฒนาเมืองท้องถิ่น’
“ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นทั้ง 4 ฝ่ายในครั้งนี้ถือเป็นแผนการทำงานเพื่อยกระดับศักยภาพและองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งทุกฝ่ายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำซึ่งครั้งนี้ถือเป็นความร่วมมือในระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นการเพิ่มศักยภาพ การผลิตชลกรและถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง” นางดรุณวรรณ กล่าว
ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ และในฐานะประธานโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ได้มีการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อสนับสนุนและขยายองค์ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในระดับสากลสู่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี อย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นหลักสูตร “ชลกร” เปิดสอนในระดับ ปวส. ซึ่งการลงนามความร่วมมือ 4 ฝ่ายที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านการศึกษา สังคม และเกษตรกรรม เพราะนอกจากจะเพิ่มศักยภาพ พัฒนาหลักสูตร “ชลกร” ขยายองค์ความรู้สู่ชุมชนแล้วยังทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลพัฒนาพื้นที่ของตน ตามแนวพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงห่วงใยพสกนิกรเพื่อให้มีน้ำกินน้ำใช้และแก้ปัญหาความยากจน