กสิกรไทย ดันโครงการ SolarPlus ตั้งเป้าติดตั้งโซลาร์รูฟฟรี 500,000 หลังใน 5 ปี

กสิกรไทย ดันโครงการ SolarPlus ตั้งเป้าติดตั้งโซลาร์รูฟฟรี 500,000 หลังใน 5 ปี

ธนาคารกสิกรไทย เปิดโครงการ SolarPlus มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสังคมสีเขียว เปลี่ยนให้คนไทยหันมาใช้พลังงานสะอาดสู่การเป็น Carbon Neutral ภายในปี 2050 และเป็น Net Zero ในปี 2065 ตามเป้าหมายของประเทศไทย ผ่านเงินลงทุน 50,000 ล้านบาท ตั้งเป้าติดตั้ง 500,000 หลังทั่วประเทศ ภายใน 5 ปี และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 2.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 240 ล้านต้น

ร่วมมือกับ 4 พันธมิตร ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนพาวเวอร์ ภายใต้เงินลงทุน 50,000 ล้านบาท ตั้งเป้าติดตั้ง 500,000 หลังทั่วประเทศ ภายใน 5 ปี

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนเริ่มตื่นตัวกับพลังงานสะอาด อยากติดโซลาร์รูฟเพราะเห็นประโยชน์ แต่ติดปัญหาด้านค่าใช้จ่าย และไม่รู้จุดคุ้มทุน หากทุกบ้านได้ติดตั้งโซลาร์รูฟโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ลดค่าไฟประมาณ 20% ต่อเดือน ขณะที่ไฟส่วนที่เหลือสามารถนำไปขายต่อได้ ธนาคารกสิกรไทยจะเป็นผู้รับซื้อเข้ามาที่สำนักงานต่างๆ และจะชวนผู้ประกอบการต่างๆ เข้ามาซื้อพลังงานด้วย เพื่อสนับสนุนให้การใช้พลังงานสีเขียวเดินต่อไปได้

“เราทำหลายเรื่องมากกว่าหน้าที่ของธนาคาร เราจับมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับประเทศไทยในอนาคต”

4 พาร์ทเนอร์ 4 บทบาท

สำหรับโครงการ SolarPlus ในครั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมมือกับ 4 พันธมิตร นำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาช่วยกันเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่พลังงานสะอาด เข้าสู่สังคมสีเขียว

สำหรับ พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จะเข้ามาสนับสนุนตั้งแต่การทำสัญญากับลูกบ้าน การติดตั้งและบำรุงรักษาระบบโซลาร์รูฟโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมติดตั้งสมาร์ทมิเตอร์เพื่อให้ลูกบ้านที่ผลิตกระแสไฟเหลือใช้สามารถจำหน่ายกลับเข้าไปในระบบไฟฟ้าได้ ในราคาหน่วยละ 2.20 บาท หรือนำมาซื้อขายแบบ Peer to Peer Energy Trading

“ประเทศไทยมีแดดที่สมบูรณ์ซึ่งเป็นความได้เปรียบ หากทุกบ้านผลิตไฟฟ้าได้ บ้านที่มีไฟฟ้าเหลือใช้กับบ้านที่ขาดพลังงานก็จะสามารถซื้อขายกัน ส่วนที่เหลือก็จะถูกดึงกลับมาเข้าระบบใหญ่ ซึ่งเป็นผลดีกับทุกฝ่าย” เขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รองผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และประธานคณะกรรมการ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม สมาร์ท โซลูชั่น จำกัด กล่าว

ด้าน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามาสนับสนุนแพลตฟอร์ม Peer to Peer Energy Trading พัฒนาโดยทีมงาน กฟผ. ทาง ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป ทั้งในเรื่องดิสรัปชันของเทคโนโลยี เกิดเทรนด์ใหม่ๆ ทำให้ กฟผ. ต้องปรับบทบาทเพื่อเตรียมตัวให้กับประเทศ จึงพิจารณาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ในอนาคต ทำเรื่อง Smart Energy Solution เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้า จะไม่ใช่การซื้อไฟฟ้าจากรัฐฝ่ายเดียวอีกต่อไป แต่จะสามารถทำได้จากบ้านคน เป็น Prosumer บ้านที่ติดตั้งโซลาร์รูฟ

กลุ่ม ปตท. หนุน Soft Power ไทย ยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ส่งออกสู่เวทีสากล

นอกจากจะผลิตใช้เองเพื่อลดค่าใช้จ่าย ในเวลาที่ไม่ได้ใช้ ก็สามารถขายให้กับเพื่อนข้างบ้านได้ โดยใช้ Micro Grid ร่วมกับแพลตฟอร์ม Peer to Peer Energy Trading เป็นแพลตฟอร์มต้นแบบที่ได้ผ่านการทดสอบใช้จริงแล้วในโครงการ ERC Sandbox เฟส 1 ซึ่งในอนาคตจะสามารถนำมาต่อยอดให้คนซื้อขายไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านได้จริง

ขณะที่ ศุภาลัย เข้ามาสนับสนุนบทบาทการเลือกโครงการบ้านที่มีลูกบ้านย้ายเข้ามาอยู่มากและเป็นโครงการใหม่ที่หลังคาบ้านสามารถรองรับการติตดั้งโซลาร์รูฟได้ โดยในเบื้องต้นเลือกโครงการศุภาลัย การ์เด้นวิลล์ รังสิต คลอง 2 เป็นโครงการแรก

ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเป็นผู้ประกอบการที่ดีจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ศุภาลัย มีแผนจะลด Carbon Footprint ในองค์กรให้ได้ 25% ใน 2 ปีข้างหน้า ผ่านการเดินหน้าการสร้างอาคารสีเขียว ติดโซลาร์รูฟบนอาคาร ขณะที่ลูกค้าอยากลดการใช้พลังงาน ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ติดตั้งโซลาร์รูฟ แต่ต้นทุนมันสูงเกินไป

การเข้ามาร่วมมือกับธนาคารสกิกรไทยในครั้งนี้เพราะเชื่อว่าโซลาร์รูฟจะเป็น 1 ในความต้องการหลักของลูกค้า ปัจจุบันค่าไฟฟ้าแพงขึ้น คนต้องการพลังงานสะอาด ถ้าสามารถเข้าไปติดตั้งให้กับบ้านที่สร้างมาก่อนหน้านี้ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยผลักดันประเทศไทยไปสู่การใช้พลังงานสะอาด

“เราหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้า และความร่วมมือกันของภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประชาชน ร่วมกันใช้ Green Energy ถ้าเราเปลี่ยนพื้นที่ต่างๆ เป็นโซชาร์รูฟได้ ก็จะลดการปล่อย Carbon Footprint โดยรวมได้” ไตรเตชะ กล่าวเสริม

ส่วน อินโนพาวเวอร์ เข้ามาสนับสนุนด้านแพลตฟอร์มให้บริการขึ้นทะเบียนอุปกรณ์ของโครงการพลังงานหมุนเวียน การซื้อขายใบรับรอง Renewable Energy Certification (REC) ซึ่งจะเข้ามาช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้กับผู้พัฒนาพลังงานสะอาด เพิ่มรายได้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ยังจับคู่เครดิตกับคนที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด

อธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายของอินโนพาวเวอร์ คือจุดประกายนวัตกรรมธุรกิจพลังงาน ให้ประเทศใช้พลังงานสะอาดผ่านเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยี Renewable Energy Certification (REC) เข้ามาใช้กับโครงการ SolarPlus เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้คนที่ผลิตไฟฟ้าในครัวเรือน สามารถขายเครดิตให้กับองค์กรที่ต้องการใช้พลังงานสะอาดได้

“เราต้องเข้าใจถึงเทรนด์ของธุรกิจพลังงาน 3D คือ Decarbonization คนหันไปใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น Decentralization การกระจายศูนย์ของการผลิตไฟฟ้าไปที่บ้านคนมากขึ้น และ Digitization ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิผลของการใช้พลังงาน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้คนเข้าถึงพลังงานสะอาดผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ดีขึ้น ถูกลง ซึ่งโครงการ SolarPlus อาจจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่เมื่อขยายผลไปแล้วจะเกิดโอกาสอย่างมหาศาลส่งผลให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์” อธิป กล่าวเสริม

SolarPlus สร้างระบบนิเวศสีเขียว

เป้าหมายของโครงการ SolarPlus คือการเปลี่ยนสังคมสู่การใช้พลังงานสะอาด เป็นสังคมสีเขียว ซึ่ง คุณพิพิธ ตั้งเป้าจะติดตั้งโซลาร์รูฟให้ได้ 500,000 หลังภายใน 5 ปี ลดค่าไฟให้ได้ 20% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 240 ล้านต้น ด้วยวงเงินสินเชื่อ 50,000 ล้านบาท

“เราคงเคยได้ยินคำว่า Carbon Footprint กันมานานแล้ว แต่ตอนนี้อยากแนะนำให้รู้จักกับคำว่า Handprint หมายความว่า เราทุกคนสามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเราไม่ Engage ให้คนทั้ง 70 ล้านคน เปลี่ยนพฤติกรรม ไม่เดินหน้าสู่พลังงานสะอาด ทุกฝ่ายจะลำบาก” พิพิธ กล่าว

พิพิธ กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับธนาคารกสิกรไทยนั้นมีความมุ่งมั่นจะลดการใช้พลังงานภายในองค์กรให้ได้ 7-8% ในทุกปี แต่การสร้างระบบนิเวศเหล่านี้กสิกรไทยไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง จึงต้องชวนพาร์ทเนอร์ต่างๆ เข้ามาร่วมมือกัน เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญ และจะช้าไปกว่านี้ไม่ได้ ในฐานะธนาคารจึงจำเป็นต้องทำมากกว่าสิ่งที่ธนาคารทำ เพื่อช่วยให้ประเทศใช้พลังงานสะอาด เข้าสู่สังคมสีเขียว จนไปถึง Net Zero ตามเป้าหมายประเทศ

Scroll to Top