คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เผยผลคำนวณค่าเอฟทีงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.67 แบ่งเป็น 3 แนวทางเพื่อประกอบการพิจารณาเรียกเก็บค่าไฟ โดยเป็นแนวทางที่ปรับเพิ่มสูงสุดจาก 3.99 บาทต่อหน่วย เป็น 5.95 บาทต่อหน่วย , 4.93 และ 4.68 บาทต่อหน่วย ย้ำเป็นการพิจารณาตามสูตรคำนวณค่าเอฟที แต่ทั้งนี้ต้องรอดูมาตรการรัฐประกอบ
คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า บอร์ด กกพ. เห็นชอบผลการคำนวณประมาณการค่าเอฟที งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.67 และข้อเสนอทางเลือก เพื่อเปิดรับฟังความเห็นประกอบการพิจารณาเพื่อประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้า โดยแบ่งข้อเสนอออกเป็น 3 แนวทาง ประกอบด้วย
แนวทางที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนค้างทั้งหมด) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุน เดือน ม.ค. – เม.ย. 67 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,77 7 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3. 78 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.99 บาทต่อหน่วยในงวดปัจจุบัน เป็น 5.95 บาทต่อหน่วย
แนวทางที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น 3 งวดๆ ละจำนวน 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟัา (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นจาก 3.99 บาทต่อหน่วยในงวดปัจจุบัน เป็น 4.93 บาทต่อหน่วย
แนวทางที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 2 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น 6 งวดๆ ละจำนวน 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นจาก 3.99 บาทต่อหน่วยในงวดปัจจุบัน เป็น 4.68 บาทต่อหน่วย
–บางจากฯ เปิดตัวหนังสั้นโฆษณา “จิตวิญญาณที่ไม่หยุดนิ่ง” #กระจกกับดอกไม้สะท้อนตัวตนแบรนด์บางจากฯ
ทั้งนี้ผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวเป็นไปตามการประมาณการตันทุนเชื้อเพลิงโดย ปตท.และ กฟผ.ที่พบว่าปัจจุบันสถานการณ์ราคาก๊าซ LNG ตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ประมาณการณ์ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.67 เพิ่มขึ้นเป็น 64.18 สตางค์ต่อหน่วย สะท้อนปริมาณการนำเข้า LNG เพื่อชดเชยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย
โดยปัจจุบันก๊าชธรรมชาติในอ่าวไทยยังอยู่ระหว่างปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 200-400 ล้านลูกบากฟุตต่อวันเป็น 800 ล้านลูกบากฟุตต่อวันในเดือน เม.ย. 2567 ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เข้ามาชดเชย ซึ่งหากมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้องนำเข้า LNG เพิ่มมากขึ้นอีกตามลำดับ นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครนที่ยังยึดเยื้อประกอบกับสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้น ทำให้อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันดิบดูไบ และราคา LNG มีความผันผวนสูงจึงมีความเสี่ยงที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 และ ม.ค. – เม.ย. 2567 เปลี่ยนแปลงไปจากประมาณการ
อย่างไรก็ตาม กกพ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10 – 24 พฤศจิกายน 2566 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งจะต้องรอดูนโยบายจากภาครัฐด้วยว่าจะมีมาตรการเข้ามาดูแลราคาค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนหรือไม่อีกคร้้ง