นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยนายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน และนายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดและเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ระหว่างวันที่ 3 – 8 พฤศจิกายน 2567 ณ มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า มณฑลไห่หนานหรือเกาะไหหลำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนที่รัฐบาลกลางจีนตั้งเป้าหมายภายในปี 2568 พลังงานที่ใช้ในมณฑลไห่หนาน 50% ต้องมาจากพลังงานสะอาด สู่การเป็นเกาะพลังงานสะอาด (Clean Energy Island: CEI) ภายในปี 2573 โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เป็น 54% พลังงานแสงอาทิตย์ 20% และพลังงานลม 15%
โรงไฟฟ้า Hainan Changjiang NPP เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างก้าวกระโดดของมณฑลไห่หนาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีทั้งขนาดใหญ่ที่เดินเครื่องแล้วและขนาดเล็ก (SMR : Small Modular Reactor) ซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยโรงไฟฟ้า SMR ที่เข้าชมในครั้งนี้มีชื่อว่า ACP100 หรือ Linglong One มีกำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ (MWe) เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย ออกแบบพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากขนาดใหญ่ให้มีขนาดเล็กลง มีความปลอดภัยสูงขึ้น โดยลดความซับซ้อนของอุปกรณ์ ออกแบบให้ระบบเชื้อเพลิงและระบบผลิตไอน้ำอยู่ภายในโมดูลปฏิกรณ์แบบสำเร็จรูปจากโรงงาน ซึ่งมีขนาดเล็กสูง 10.8 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร หรือเทียบเท่ารถบัส 1 คัน หนักประมาณ 300 ตัน โดยใช้เทคโนโลยีน้ำอัดแรงดัน หรือ PWR (Pressurized Water Reactor) ซึ่งใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน สามารถหยุดการทำงานได้เองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบระบายความร้อนไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้คือ ยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นของ U-235 น้อยกว่า 5%) ปล่อยพลังงานความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงนานถึง 24 เดือน โดยคาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในปี 2569 จะมีอายุการใช้งานถึง 60 ปี โดยใช้ขนาดพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเพียง 125 ไร่เท่านั้น
โรงไฟฟ้า SMR เป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันได้เพราะแร่ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงซึ่งมีจำนวนมาก ราคาต่ำ ใช้ในปริมาณน้อย และไม่มีการผูกขาดเหมือนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจึงไม่มีความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง สำหรับประเทศไทยอยู่ในสถานะรอความชัดเจน จากแผน PDP2024 ทั้งนี้ กฟผ. ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีนิวเคลียร์และพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มานานกว่า 17 ปี และติดตามเทคโนโลยี SMR จากหลายประเทศทั่วโลก อาทิ อเมริกา รัสเซีย เกาหลีใต้ และจีน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทย
นอกจากนี้มณฑลไห่หนานยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Yinggehai กำลังผลิตสูงถึง 400 เมกะวัตต์ พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานรวม 200 เมกะวัตต์–ชั่วโมง ซึ่งพัฒนาบนพื้นที่นาเกลือที่เลิกใช้ประโยชน์แล้ว และพื้นที่ชายฝั่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นเดียวกับการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ที่ติดตั้งบนพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อน จึงไม่กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและไม่มีต้นทุนค่าที่่ดิน สามารถใช้อุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้ ปัจจุบัน กฟผ. มีแผนจะเร่งดำเนินการโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อน กฟผ. จำนวน 2,656 เมกะวัตต์ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2573 โดยโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ชุดที่ 1 กำลังผลิต 140 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่ 3 ของ กฟผ. และอยู่ระหว่างขออนุมัติโครงการต่อคณะรัฐมนตรี
ด้านการพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจน มณฑลไห่หนานได้พัฒนาสถานีไฮโดรเจนไห่โข่ว สำหรับผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์ กำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ ด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) แยกน้ำเป็นไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า ซึ่งสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน จากนั้นนำไปกักเก็บไว้ในถังเก็บไฮโดรเจนสามารถเติมให้รถที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้ สำหรับประเทศไทย กฟผ. มีโครงการ Wind Hydrogen Hybrid ที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง จ.นครราชสีมา สามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากกังหันลมด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส ทำงานร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบัน กฟผ. มีโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คือ โครงการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนบนพื้นที่ศักยภาพของ กฟผ. ซึ่งมีเป้าหมายเริ่มดำเนินโครงการต้นแบบในปี 2573 นอกจากนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษาศักยภาพและพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 5% ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม โดยมีเป้าหมายทดสอบภายในปี 2573
นอกจากนี้มณฑลไห่หนานยังได้จัดตั้ง Hainan Energy Data Center เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและให้บริการด้านพลังงานของมณฑลไห่หนาน สำหรับกำหนดนโยบายและวางแผนการพัฒนาพลังงานรองรับและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด อาทิ ข้อมูลการใช้พลังงานของประชากรและบริษัทอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอดีต ข้อมูลสมดุลการผลิตและใช้พลังงานของมณฑลไห่หนาน การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพลังงานที่ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ได้ ในขณะที่ประเทศไทยได้นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ยืดหยุ่น (Grid Modernization) เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน อาทิ จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Forecast Center) โดยนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 29 แห่ง ที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟผ. มาวิเคราะห์และประมวลผลพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้วางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งมีทั้งรูปแบบการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าระยะสั้น (Day-ahead Forecast) แบบล่วงหน้า 10 วัน เพื่อใช้สำหรับวางแผนการผลิตไฟฟ้าระยะสั้น-กลาง และการพยากรณ์ภายในวัน (Intraday Forecast) ทุก 1 ชั่วโมง และ 6 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันเพื่อใช้สำหรับการวางแผนควบคุมระบบไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ รวมถึงจัดตั้งศูนย์ควบคุมการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่สมัครใจในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อสร้างความสมดุลให้ระบบไฟฟ้า และลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ เตรียมพร้อมต่อยอดสู่โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) ในการบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้อย่างต่อเนื่อง
“กฟผ. มุ่งมั่นเดินหน้าศึกษาพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ แสวงหาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัย พร้อมออกแบบระบบไฟฟ้าของประเทศเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด หวังยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของประเทศ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ”
โค้ก โดยกลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย สร้างความฮือฮาให้กับตลาดเครื่องดื่มอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว "โค้ก" ซีโร่ กลิ่นวานิลลา ความอร่อยใหม่ที่ผสานความซ่าส์อันเป็นเอกลักษณ์ของ "โค้ก" เข้ากับความหอมหวานละมุนละไมของวานิลลาได้อย่างลงตัว ที่สำคัญคือมาในสูตรไม่มีน้ำตาล ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen…
บริษัท ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น (Epson) ประกาศแต่งตั้ง โยชิดะ จุนคิชิ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและตัวแทนผู้อำนวยการ (President and Representative Director) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ (Chief…
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดย กองสิ่งแวดล้อม ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้าง ช่วงเวลากลางคืน การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ โดยเริ่มตั้งแต่จุดก่อสร้าง Cut…
LINE MAN ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับ Lotus’s และ Lotus’s go fresh ขยายฐานบริการ LINE MAN MART ให้ครอบคลุมกว่า 1,400 สาขาทั่วประเทศ…
พฤกษา ผนึกกำลัง โรงพยาบาลวิมุต มอบสิทธิพิเศษสุดเอ็กซ์คลูซีฟ และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพครบวงจรให้ลูกบ้านตลอดปี 2568 ภายใต้แนวคิด "สุขภาพดีเริ่มต้นที่บ้าน" จิตชญา ตู้จินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดองค์กรกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง…
ออเนอร์ (HONOR) ประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญของสมาร์ทโฟนระดับแฟลกชิป HONOR Magic7 Pro 5G ที่สร้างยอดขายเติบโตสูงถึง 2.4 เท่า นับตั้งแต่เปิดให้พรีออเดอร์เมื่อวันที่ 11-21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568…