กรมธุรกิจพลังงาน ดันขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นระบบส่งน้ำมันหลักของประเทศ ลดต้นทุนเอกชน ทำให้ราคาน้ำมันในพื้นที่ห่างไกลถูกลงได้ใกล้เคียงกับราคาน้ำมันในกรุงเทพฯ

นายวุฒิทัต ตันติเวสส รองอธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือ ของบริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด โดยกล่าวว่า โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะช่วยให้การขนส่งน้ำมันมีประสิทธิภาพลดต้นทุน ลดอุบัติเหตุจากการขนส่งน้ำมันทางถนน และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้นทุนการขนส่งที่ลดลง ประมาณ 20-30 สตางค์ต่อลิตร เมื่อเทียบกับการขนส่งทางถนนในปัจจุบัน ก็จะช่วยให้ราคาน้ำมันในจังหวัดห่างไกลปรับลดลงมาอยู่ในระดับเดียวกันกับกรุงเทพ

ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงาน จะส่งเสริมให้การขนส่งน้ำมันทางท่อเป็นระบบขนส่งน้ำมันหลักของประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการท่อแบบ Single Operator และความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและจำหน่ายน้ำมันในกลุ่มประเทศ CLMV ต่อไป คาดว่าจะศึกษาเสร็จในเดือนตุลาคม แล้วนำเสนอขอความเห็นชอบกับรัฐบาลใหม่ จากนั้นตั้งคณะทำงานเหมือนรถ EV เพื่อให้การทำงานเกิดขึ้นจริง

ด้านหม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เสนอว่า การจะผลักดันให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการขนส่งน้ำมันทางท่อ อาจต้องปรับระบบการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต จากเดิมเก็บ 2 ครั้ง ที่หน้าโรงกลั่น และที่คลังน้ำมันปลายทาง มาเป็นการจัดเก็บปลายทางครั้งเดียว ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการคำนวณภาษีน้ำมันที่ยังอยู่ค้างท่อ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีน้ำมันค้างท่ออยู่ราว 164 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,904 ล้านบาท หากปรับระบบการจัดเก็บภาษีได้ตามที่เสนอ ก็จะช่วยลดต้นทุนให้กับเอกชน นำไปสู่การปรับลดราคาน้ำมันได้ในอนาคต ​ นอกจากนี้ BAFS ได้ทำการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำมันไปยังพื้นที่ภาคเหนือ (พิจิตร-ลำปาง) และภาคตะวันออก เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น

สำหรับสถานการณ์น้ำมันอากาศยาน ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสถานการณ์การท่องเที่ยว มล.ณัฐสิทธิ์ มองว่า แนวโน้มในช่วงปลายปีเห็นสัญญาณฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวได้ชัดเจน มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้การใช้น้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 75% เมื่อเทียบกับบปี 62 และคาดว่าปีหน้าจะกลับมาได้ 100%

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการภาษีสรรพสามิตน้ำมันสำหรับเครื่องบินเที่ยวบินในประเทศ จาก 0.20 บาทต่อลิตร กลับมาเก็บใน อัตรา 4.726 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสายการบิน โดยสายการบินในประเทศ เริ่มหันไปเติมน้ำมันจากต่างประเทศแทน เนื่องจากมีส่วนต่างเรื่องภาษีคิดเป็นต้นทุนถึง 20% ทั้งนี้มองว่า รัฐบาลชุดใหม่ ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ อยากให้พิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบินด้วยการต่ออายุมาตรการดังกล่าว เพื่อให้สายการบินฟื้นตัวได้ ท่ามกลางสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น

Scroll to Top