ปตท. ประกาศเดินหน้าสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ รุกปรับเป้าหมายและทบทวนแผนลงทุนใหม่ ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2573 มุ่งลงทุนพลังงานแห่งอนาคต พร้อมสยายปีกสร้างธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนและขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน ชูหน่วยงาน PTT ExpresSo สร้างนวัตกรรมเสริมสร้างธุรกิจใหม่ พร้อมร่วมโครงการ “Decarbonize Thailand Startup Sandbox” สนับสนุนสตาร์ทอัพเร่งหาโซลูชั่นช่วยลดการปล่อยคาร์บอน พลิกโฉมนวัตกรรมพลังงานของไทย ขับเคลื่อนสู่ Net-Zero
นิชฌาน ภิรมย์สวัสดิ์ Venture Capitalist and Head of Partnerships ของ PTT ExpresSo หน่วยธุรกิจที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้คนและสังคม ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ในฐานะผู้นำด้านพลังงานของประเทศไทย ตระหนักถึงความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก บริษัทจึงได้ปรับเป้าหมายและทบทวนพอร์ตการลงทุนใหม่ ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2573 มุ่งสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการเร่งลงทุนในกลุ่มพลังงานแห่งอนาคต เช่น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน และการลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรองรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น พร้อมทั้งลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตตามทิศทางของโลก อาทิ การต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และขยายภาคค้าปลีกในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค รวมถึงลงทุนในธุรกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและอาหารสำหรับอนาคต โดยวางเป้าหมายสร้างกำไรจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่มากกว่า 30% ในปี 2573
–ครม. เคาะขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ต่ออีก 2 เดือน
ซึ่งทั้งหมดจะมุ่งไปสู่การสร้างธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 15% ในปี 2573 เมื่อเทียบปริมาณการปล่อยในปี 2563 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2593
จากนี้ไป ปตท. จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่ที่นอกเหนือจากพลังงาน และวิสัยทัศน์ของเราคือ Decarbonization ซึ่งมั่นใจว่าเป็นอนาคตที่ใหญ่มาก โดยกลยุทธ์ที่จะทำให้ไปถึงได้มีสองเรื่องสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง เทคโนโลยี แม้ปัจจุบันทำไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีอีกหลายส่วนที่ยังไม่สำเร็จในเชิงเทคนิคและต้นทุน ดังนั้น เทคโนโลยีใหม่ ๆ จะช่วยให้เกิดความสำเร็จและขยายใหญ่ขึ้น เกิดการลดคาร์บอนอย่างกว้างขวางอย่างยั่งยืน สอง ความร่วมมือกับพันธมิตร
เพราะการ Decarbonization หากทำคนละทิศคนละทาง เชื่อมต่อกันในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ไม่ได้ก็อาจจะไม่สำเร็จ แต่การมาแชร์กัน เอาความเก่งและทรัพยากรของแต่ละองค์กรมาทุ่มเทร่วมกันจะทำได้เร็วขึ้น ที่สำคัญการร่วมได้อย่างมีพลังจะส่งผลดีต่อธุรกิจ เป็นประโยชน์ระดับประเทศด้วย หากไทยสามารถทำห่วงโซ่คุณค่าใหม่ที่สามารถทำได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า ก็จะเป็นโอกาสที่ทำให้เราส่งออกเทคโนโลยีและธุรกิจใหม่ไปประเทศอื่น เป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ทำให้เป็นเครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศด้วย รวมถึงได้ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมในระดับโลก สร้างผลประโยชน์ให้กับองค์กร และทุก ๆ ผู้มีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกัน
นิชฌาน กล่าวต่อว่า ปตท. จัดตั้งหน่วยงาน PTT ExpresSo ขึ้นมา มุ่งค้นหานวัตกรรมด้านพลังงานร่วมกับสตาร์ทอัพ เพื่อนำเอาเทคโนโลยีทั้งในและนอกประเทศมาสร้างธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจด้าน Decarbonization ที่ต้องการขยายผลให้กว้างขึ้น โดยสร้าง Ecosystem ของ Decarbonize สตาร์ทอัพ กระตุ้นให้มีการเติบโตขึ้น ทั้งจากทีมของ ปตท. และทำโครงการร่วมกับสตาร์ทอัพภายนอก จึงสนใจเข้าร่วมโครงการ “Decarbonize Thailand Startup Sandbox” หรือ DTS สนับสนุนสตาร์ทอัพร่วมค้นหาโซลูชั่นลดคาร์บอน และผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งวิธีที่มีประโยชน์สร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืนให้แก่ ปตท. และอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศไทย
“วิธีลดการปล่อยคาร์บอนต้องลงทุนอย่างมหาศาล ยากที่จะสร้างกำไรได้ในระยะสั้น ดังนั้น การจะลดคาร์บอนในระดับใหญ่อย่างยั่งยืน ควรใช้กลไกลทางธุรกิจขับเคลื่อน มีเทคโนโลยีที่ดีและมีความคุ้มค่าในการดำเนินการ บริษัทจึงสนใจเข้าร่วมโครงการ DTS ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญเพื่อการลดคาร์บอนอย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่ง ปตท. มีความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่สะสมมายาวนาน เพื่อเร่งสร้าง Decarbonize Thailand ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจพลังงานในอนาคต คือมุ่งไปสู่การสร้างพลังงานคาร์บอนต่ำ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้นได้คือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องร่วมกันผลักดันไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน” นิชฌาน กล่าวทิ้งท้าย