จากกรณีเกิดปัญหาการส่งก๊าซธรรมชาติแหล่งซอติก้าจากเมียนมา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของไทย กระทรวงพลังงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหา
โดยการปรับเปลี่ยนเชื้อพลิงตามความเหมาะสม คาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ และจะบริหารจัดการด้านเชื้อเพลิงอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ผู้ประกอบการ และโรงงานอุตสาหกรรม
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องของท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งซอติก้าจากเมียนมาเข้าสู่ประเทศไทย และมีข้อห่วงใยต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ ในการบริหารเชื้อเพลิงเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายไป รวมถึงผลกระทบด้านต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ทางกระทรวงพลังงานได้ร่วมดำเนินการกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในการจัดทำแผนการบริหารเพื่อจัดหาเชื้อเพลิงล่วงหน้าโดยภายหลังได้รับรายงานเหตุการณ์ดังกล่าว จึงได้มีการปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์พร้อมเสนอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานให้ความเห็นชอบในทันที
ในสถานการณ์ ณ ปัจจุบันได้บริหารจัดการโดยการจัดส่งก๊าซธรรมชาติจากภาคตะวันออกมาทดแทนก๊าซในภาคตะวันตก พร้อมทั้งได้วางแผนในการนำเข้า LNG รวมทั้งใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าตามความเหมาะสมทั้งด้านประเภทโรงไฟฟ้าและราคาเชื้อเพลิง
โดยมีประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานมาเป็นอันดับแรก และบริหารต้นทุนเพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด โดยประชาชน ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการสามารถมั่นใจในความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศได้
“จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายที่สำคัญที่เน้นย้ำให้หน่วยงานที่มีภารกิจรับผิดชอบ คือ ประเทศไทยจะต้องไม่เกิดไฟฟ้าดับ กระทรวงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกฝ่ายทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่บริหารแผนจัดหาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้มีความต่อเนื่องและมั่นคงโดยมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในการบริหารระบบไฟฟ้าและจัดการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติ นำเข้า LNG และจัดส่งน้ำมันเชื้อเพลิง บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) เร่งซ่อมแซมท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เกิดอุบัติเหตุพร้อมป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ส่วนกรมเชื้อพลิงธรรมชาติก็ได้กำกับให้ผู้รับสัญญาในแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศมิให้มีการหยุดซ่อมบำรุงในกรณีที่ไม่จำเป็นในช่วงเวลานี้ ส่วนกรมธุรกิจพลังงานก็ดูแลการจัดหาและสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความมั่นคง
ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า กระทรวงพลังงาน จะเร่งดำเนินการทุกมาตรการ พร้อมบูรณาการทุกภาคส่วนในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ขอให้มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดไฟฟ้าดับอย่างแน่นอน และขอความร่วมมือประชาชนในการใช้ไฟฟ้าอย่าง
มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากสามารถลดการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศได้ ก็จะสามารถลดการนำเข้าพลังงาน ส่งผลให้ต้นทุนของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าก็ถูกลงและจะลดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนได้ ” นายกุลิศ กล่าว