เดลต้า (Delta) เผยโครงสร้างด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยยังมีน้อย พร้อมร่วมมือภาครัฐ-เอกชน ขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานเพิ่ม ตั้งเป้าเป็นบริษัทที่ใช้นโยบาย RE100 (Renewable Energy 100%) หรือใช้พลังงานยั่งยืน 100% ภายในปี 2030
แจ็คกี้ จาง ประธานบริษัท เดลต้า ประเทศไทย กล่าวว่า Delta เห็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตและจะส่งผลไปในอีก 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ การเติบโตของ Data Center, ICT และ Connectivity โดยมี 5G เข้ามาช่วยพัฒนา ซึ่งการพัฒนาโทรคมนาคมอาจส่งผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change)
–ดีพร้อม ผนึกกำลัง บ.เดลต้าฯ คิกออฟ Angel Fund ปีที่ 7 พร้อมดึง 3 พันธมิตรเอกชน เปิด Business Camp ติดปีกสตาร์ทอัพไทย
–เนคเทค สวทช. นำระบบ Face Verification บันทึกข้อมูลแรงงานต่างด้าว หลังฉีดวัคซีนโควิด-19
ซึ่งจากปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่เข้ามาแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน องค์กรให้ความสนใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจของตัวเองมีความยั่งยืน
เดินหน้านโยบาย RE100 ในปี 2030
แจ็คกี้ จาง มองว่า โครงสร้างด้านพลังงานยั่งยืนในประเทศไทยนั้นยังมีน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะระบบไฟฟ้ายังถูกบริหารแบบรวมศูนย์ (Centralized) หรือบริหารโดยภาครัฐ ส่งผลให้ในพื้นที่ห่างไกลอาจจะยังไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือ หากโรงงานต้องการซื้อพลังงานจาก ชลบุรี เข้ามาที่ สมุทรปราการ ปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ ก็ต้องศึกษาว่าอนาคตจะมีทางใดบ้างที่จะสามารถทำให้พลังงานสะอาดเข้ามาที่โรงงานได้แม้จะอยู่ห่างไกลกัน
Delta ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงระบบไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นระบบกระจายศูนย์ (Decentralized) ผ่านการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในเยอรมนี ศึกษาวิธีการจ่ายไฟฟ้า การบริหารไฟฟ้า เพื่อนำกรณีศึกษามาแนะนำให้กับรัฐบาลไทย
นอกจากนี้ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยไทย สร้างคอร์สเรียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงานไฟฟ้า เพราะการพัฒนา ด้านพลังงานไฟฟ้าจะต้องดูหลายด้าน ทั้งการแบ่งจ่าย การผลิตไฟฟ้า การจัดเก็บ
“การร่วมงานกับมหาวิทยาลัย จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงปัญหาไฟฟ้ามากขึ้น”
แจ็คกี้ จาง กล่าวต่อว่า Delta ให้คำมั่นว่าจะเป็นบริษัทที่ใช้นโยบาย RE100 (Renewable Energy 100%) หรือการใช้พลังงานยั่งยืน 100% ปัจจุบัน Delta ใช้พลังงานทดแทนอยู่ประมาณ 10% มาจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงาน
สำหรับเป้าหมายของ Delta คือจะใช้พลังงานทดแทนให้ได้ 35% ในปี 2025 และ 100% ในปี 2030
ซึ่งความท้าทาย คือ โรงงานใช้พลังงานค่อนข้างมาก แต่ต้องหาพลังงานสะอาดมาใช้ในโรงงาน 100% ทำให้ Delta ต้องพยายามจะหาโซลูชันเข้ามาประยุกต์ใช้ในโรงงาน ผ่านการร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน หรือ การร่วมมือกับสตาร์ทอัพที่พัฒนาเรื่องการบริหารไฟฟ้า
“เราหวังว่าในอนาคตภาครัฐจะมีนโยบายออกมาจัดการเรื่องพลังงานยั่งยืน และเข้ามาสนับสนุนจุดมุ่งหมายของ Delta เพราะการที่ภาคเอกชนจะดำเนินการเองนั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง”
ภาพประกอบจาก unsplash