บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) มั่นใจธุรกิจพลังงานยังสดใส เดินหน้าขยายฐานการผลิตในต่างประเทศต่อเนื่อง ชูจุดแข็งกระจายพอร์ตลงทุนหลากหลายประเทศ รับมือความผันผวน ตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิต 1,500 เมกะวัตต์ จากโครงการก๊าซธรรมชาติภายในปี 2030 เน้นตลาดสหรัฐฯ จีน และอินโดนีเซีย พร้อมรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจและนโยบายพลังงานในประเทศ
อิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPP เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ามากว่า 30 ปี โดยดำเนินธุรกิจใน 8 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ไทย สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน BPP มีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้ารวม 40 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 3.6 กิกะวัตต์ โดยกว่า 80% ของกำลังการผลิตทั้งหมดจำหน่ายในต่างประเทศ
“BPP มุ่งสร้างสมดุลของพอร์ตธุรกิจ ทั้งพลังงานความร้อน (Thermal Energy) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างการเติบโตที่มั่นคง” อิศรา กล่าว
สำหรับเป้าหมายการเติบโตในอนาคต BPP ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2030 โดยเน้นการลงทุนในโครงการก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา จีน และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูง
ปัจจัยหนุนการเติบโตในตลาดต่างประเทศ
อิศรา กล่าวถึงปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในตลาดต่างประเทศว่า ในส่วนของสหรัฐอเมริกา คาดว่าราคาพลังงานและความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มสูงขึ้น จากการพัฒนาของเทคโนโลยี AI และศูนย์ข้อมูล (Data Center) โดยในปี 2568 คาดว่าราคาซื้อขายไฟล่วงหน้าในตลาด ERCOT จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปี 2567 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีกระแสเงินสดจากการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) เพิ่มขึ้นกว่า 40% จากปี 2567
ขณะที่ในประเทศจีน คาดว่ากำไรของโรงไฟฟ้าจะเติบโตขึ้นจากต้นทุนถ่านหินที่ลดลง รวมถึงรายได้จาก Carbon Emission Allowance
“แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหรือนโยบายพลังงานในประเทศ แต่ BPP เชื่อมั่นว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ จะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน จากการที่บริษัทฯ มีฐานการดำเนินงานในหลากหลายประเทศ ประกอบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” อิศรา กล่าว
รับมือความท้าทาย มุ่งสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น
อิศรา กล่าวถึงความท้าทายในปัจจุบันของธุรกิจพลังงานว่า แม้จะมีปัจจัยภายนอกที่ต้องเผชิญ เช่น ความกังวลต่อนโยบายลดค่าไฟฟ้า หรือการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax: GMT) แต่ BPP ได้เตรียมความพร้อมรับมือกับปัจจัยเหล่านี้ไว้แล้ว
ในส่วนของนโยบายลดค่าไฟฟ้าในประเทศไทย นายอิศรา ยืนยันว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ เนื่องจาก BPP ดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ส่วนโรงไฟฟ้า 2 แห่งที่จำหน่ายไฟฟ้าในประเทศไทย ได้แก่ โรงไฟฟ้า บีแอลซีพี จังหวัดระยอง และโรงไฟฟ้าเอชพีซี ใน สปป.ลาว ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
สำหรับการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (GMT) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 นายอิศรา กล่าวว่า BPP ได้มีการวางแผนรับมือไว้แล้ว โดยในประเทศหลักที่เข้าไปลงทุน บริษัทฯ มีการจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่า 15% ซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำตามที่ GMT กำหนด จึงมั่นใจได้ว่า BPP จะไม่ได้รับผลกระทบจาก GMT แต่อย่างใด
“BPP เชื่อมั่นว่า ธุรกิจพลังงานจะยังคงมีเสถียรภาพ เนื่องจากไฟฟ้าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ประกอบกับเทรนด์พลังงานในอนาคต จะยิ่งส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมความสามารถในการทำกำไรของ BPP ให้มีความยืดหยุ่น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม” อิศรา กล่าว
นอกจากนี้ BPP ยังให้ความสำคัญกับการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลราว 4%-6% ต่อปี และกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เติบโตต่อเนื่องโดยเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี
มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
BPP ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อสร้างคุณค่าร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อม