Charge Plus เดินหน้าขยายสถานีชาร์จรถ EV ในประเทศไทย ล่าสุดเปิดตัวสถานีชาร์จระบบ DC เป็นแห่งแรกในไทยที่ KFC Drive-Thru สาขาสาทร ก่อนขยายเป็น 20-30 แห่งภายในปีนี้
Goh Chee Kiong ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชาร์จ พลัส ผู้ให้บริการโซลูชันการชาร์จ EV จากสิงคโปร์ ร่วมกับพาร์ทเนอร์ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมเปิดสถานีชาร์จ EV ระบบ DC (ไฟฟ้ากระแสตรง) แห่งแรกในประเทศไทย ก่อนขยายเพิ่มอีก 20-30 แห่งในปีนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ , พัทยา , ระยอง , ภูเก็ต , หาดใหญ่ และ ทับสะแก โดยเป็นการขยายสถานทีชาร์จ EV ของชาร์จ พลัส จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 1,500 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซีอีโอ ชาร์จ พลัส กล่าวว่า หลังจากที่ไทยมีมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ผ่านนโยบาย EV3.0 และ EV3.5 ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรวมการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค โดยในไตรมาส 1 ปี 2566 ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 78% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ชาร์จ พลัสมีแผนขยายสถานีชาร์จบนทางหลวงชาร์จ EV ให้ครอบคลุมระยะทาง 5,000 กม. ใน 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นแกนหลักการชาร์จ EV ที่ยาวที่สุดในภูมิภาค
สำหรับปี 2567 ชาร์จพลัส มีแผนติดตั้งสถานีชาร์จ DC เพิ่มเติมรองรับความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของไทย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และทับสะแก โดยจะมีการโรมมิ่งระบบชาร์จไฟ และ แอปพลิเคชั่น กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2024 พร้อมระบุว่า นโยบายสนับสนุน EV ของรัฐบาลทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตลาด EV ที่น่าตื่นเต้นที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ยังมองว่า การที่ประเทศไทยค้นพบแหล่งแร่ลิเทียม ถึงแม้จะไม่ได้มีปริมาณมากติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ถือว่าเป็นข่าวดีต่อการพัฒนาอีโค่ซิสเต็มของยานยนต์ไฟฟ้า และมีส่วนเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เดินหน้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
ด้าน พิชิต พงษ์ประเสริฐ วิศวกรระดับ9 หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจใหม่-ยานยนต์ไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยมีมากกว่า 2,300 สถานีชาร์จ โดยระบบหัวชาร์จแบบ DC คิดเป็นสัดส่วน 40% ของจำนวนสถานีชาร์จที่มีอยู่ทั้งหมด อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการลงทุนสถานีชาร์จในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ แต่การที่ชาร์จพลัส ซึ่งเป็นผู้ให้บริการจากต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จในประเทศไทย เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ปริมาณยานยนต์ไฟฟ้าของไทยที่มีอยู่กว่า 1 แสนคัน เริ่มเข้าสู่ระดับที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ และเชื่อว่าการขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าจะขยายตัวได้อย่างมากในปีนี้แตะที่ระดับมากกว่า 3,000 สถานีชาร์จได้อย่างแน่นอน
–Robinson Lifestyle ผนึก Tesla เปิดตัว Supercharger นำร่องพื้นที่ภาคเหนือ