งานสัมมนาด้านพลังงานแห่งปี “DECARBONIZE THAILAND SYMPOSIUM 2022” โอกาสสำคัญในการรวมพลังจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาและกูรูชั้นนำด้านพลังงานในโลก ร่วมหาโซลูชันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น กลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ภายในปี 2065 ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมร่วมสร้างอุตสาหกรรมใหม่จากคาร์บอนเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย (Thailand’s Zero Carbon Economy)
เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” และมีเป้าหมายรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส สำหรับประเทศไทยหลังเข้าร่วม COP26 ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 โดยในปัจจุบันประเทศไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีนโยบายส่งเสริมทั้ง การปลูกต้นไม้ ป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่สีเขียว และการประสานงานกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันลดการปล่อยจากการใช้พลังงาน การขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร
–บางจาก เปิดแผนยุทธศาสตร์ปี 2030 พร้อมปรับอัตลักษณ์องค์กร ก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืน
ทั้งนี้การมุ่งไปสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน ต้องมีการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำในการสนับสนุนองค์ความรู้ สร้างมาตรฐานในการวัดและประเมินผล ออกกฎหมายทั้งในเชิงส่งเสริมและจำกัดขอบเขต เพื่อให้ภาคเอกชนเกิดแรงจูงใจในการลงทุนกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง เพื่อสร้างโอกาสของธุรกิจที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชน ทำให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนที่ต่ำลงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ภาพรวมตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ที่เป็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ได้เข้าร่วมโครงการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (T-VER) มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตโครงการ “T-VER” ในช่วง 8 เดือนแรกปี 2565 เติบโต 425% เมื่อเทียบกับปริมาณทั้งปี 2564 และคิดเป็นเพียง 0.3% ของก๊าซเรือนกระจกจากประเทศไทยปล่อยทั้งหมดต่อปี ซึ่งมี
แนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในทุกปี สำหรับภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตโลกในช่วงที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และประเมินว่ามูลค่าตลาดจะสูงถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.50 แสนล้านบาท ในปี 2573 ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการจัดงาน “DECARBONIZE THAILAND SYMPOSIUM 2022” จะร่วมขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ในระยะยาว
ดร.ธาริต นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู ดิจิทัล พาร์ค จำกัด (True Digital Park) หรือ TDPK กล่าวว่า จากการจัดงานในครั้งนี้เป็นการร่วมสนับสนุนทำให้เกิดการสร้างสตาร์ทอัพต้นแบบด้านพลังงานในประเทศไทย และประเมินว่าจะมีสตาร์ทอัพด้านพลังเพิ่มขึ้นในทุกปี เนื่องจากความต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานอย่างยั่งยืนจากภาคอุตสาหกรรมมีเพิ่มขึ้นในโลก และองค์กรมีแนวทางส่งเสริมสตาร์ทอัพจำนวนมากกว่าแสนรายในระยะยาว
ทั้งนี้งาน “DECARBONIZE THAILAND SYMPOSIUM 2022” เป็นความร่วมมือระหว่าง 8 บริษัทชั้นนำของประเทศไทย โดยในงานมีไฮไลต์ทั้งการจัด Symposium ความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชนสู่การขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์
สแตนลี เอิง ผู้อำนวยการโครงการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรนิวเอนเนอร์จี้ เน็กซัส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงบทสรุปของโครงการ “Decarbonize Thailand sandbox 2022” ในด้านสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการได้รับการสนับสนุนสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่เหมาะสมในการทำงานตลอดโครงการ ทั้งการเข้าร่วม Masterclass Workshops, การให้คำปรึกษา Corporate Mentor โดยมีสตาร์ทอัพ 8 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบ ซึ่งประกอบด้วย ANNEA, PAC Corporation, ETRAN, AltoTech, Thai Carbon, Krosslinker, ReJoule และ TIE-con ที่มีการนำเสนอผลงานนวัตกรรมและนำเสนอเคสที่ประสบความสำเร็จโครงการ Decarbonize Startup sandbox ภายในงานสัมมนาในครั้งนี้
นอกจากนี้ยังมีการจัด Workshop ภายใต้หัวข้อ Decarbonize Strategy และ Climate Tech เพื่อร่วมระดมสมองและแนวคิดที่สำคัญจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และภาคเอกชน ตลอดจนการจัด โชว์เคส (Showcase) จากStartup รวมกว่า 20 ทีม รวมถึงมีการจัดกิจกรรม Networking Reception การเปิดพื้นที่สังสรรค์ให้ทุกคนได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและกันอย่างใกล้ชิด นำไปสู่ความร่วมมือลดคาร์บอนในอนาคต