ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น อุทกภัยที่เกิดในหลายพื้นที่ของประเทศไทย แผ่นดินไหวที่มักจะเกิดในประเทศที่เป็นเกาะ เช่น ญี่ปุ่น หรือการเกิดพายุหิมะในช่วงฤดูหนาวของสหรัฐอเมริกา ฯลฯ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการใช้ชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่ต้องพบกับความเสี่ยงในการขาดแคลนไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนทุกชีวิตและเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ การส่งมอบพลังงานไฟฟ้าอย่างมั่นคงและต่อเนื่องไม่ว่าในสถานการณ์ใด จึงถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ต้องทำให้สำเร็จ เพื่อให้ทุกชีวิตสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น โดยไม่มีการหยุดชะงัก
อิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า “ภาวะขาดแคลนไฟฟ้าถือเป็นสิ่งที่ผู้คนกังวลมากที่สุดเมื่ออยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ BPP ในฐานะผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งมอบพลังงานอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง (Reliable) รวมถึงมุ่งเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อรับมือกับปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เพื่อให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าแก่ชุมชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเตรียมความพร้อมในโรงไฟฟ้าทุกแห่งเพื่อการตอบสนองและฟื้นคืนการดำเนินงานในภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพภายในระยะเวลารวดเร็วภายใต้แผนการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ นอกจากนี้ เรายังพร้อมช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ ของชุมชนและสังคมในประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในยามที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจของ BPP ที่สอดคล้องกับหลักความยั่งยืน (ESG) และเป้าหมายในการส่งมอบพลังงานไฟฟ้าคุณภาพ”
โรงไฟฟ้ามีระบบจ่ายไฟฉุกเฉิน และประชาชนมีแหล่งไฟฟ้าสำรองใช้เมื่อเกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น
หลังจากวิกฤตการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2554 ประชาชนในเมืองไอสึวากามัตสึส่วนใหญ่รู้สึกกังวลกับภาวะขาดแคลนไฟฟ้า Banpu Japan K.K. (BJP) บริษัทในเครือ BPP จึงติดตั้งระบบจ่ายไฟฉุกเฉินในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นาริไอสึ ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้คนในท้องถิ่นมีแหล่งไฟฟ้าสำรองใช้เมื่อเกิดภัยพิบัติ รวมถึงส่งมอบเครื่องผลิตไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่ได้ให้ชาวเมืองมุกะวะบนเกาะฮอกไกโดที่ประสบเหตุแผ่นดินไหว ที่ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับทั่วทั้งเกาะ เพื่อให้ชาวเมืองมุกะวะมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ทั้งในช่วงเวลาปกติ หรือเมื่อเกิดภัยพิบัติ นับเป็นการนำธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติ ผ่านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาชุมชนระหว่างบริษัทฯ ผู้นำในท้องถิ่น และประชาชน
โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ส่งมอบพลังงานไฟฟ้าต่อเนื่องทั้งยามปกติและในวิกฤติสภาพอากาศ
โรงไฟฟ้า Temple I และโรงไฟฟ้า Temple II ในรัฐเท็กซัส เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) ที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (High Efficiency, Low Emissions: HELE) และมีเสถียรภาพในการส่งมอบพลังงานไฟฟ้า โรงไฟฟ้าคู่แฝดนี้ถูกออกแบบและติดตั้งด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เหมาะกับสถานที่ตั้งที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศผันผวนทั้งร้อนจัดและหนาวจัด ตัวอย่างในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่เกิดพายุหิมะถล่มรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เป็นช่วงที่อากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน ทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟดับ (Blackout) ส่งผลให้ประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้สำหรับสร้างความอบอุ่นในช่วงที่อากาศหนาวจัด จากเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการขาดความพร้อมและความมั่นคงในการส่งมอบพลังงานในพื้นที่ดังกล่าว
ดังนั้น BPP จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่ดีของโรงไฟฟ้าคู่แฝดนี้ เพื่อทำให้การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีมาตรการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ เพื่อทำให้โรงไฟฟ้าสามารถผ่านร้อนผ่านหนาวไปได้ ทั้งการติดตั้งระบบหล่อเย็นเสริมเพื่อช่วยลดอุณหภูมิของหม้อแปลงในช่วงฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงจัด ที่ส่งผลให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่เร่งผลิตไฟฟ้า หรือการติดตั้งโครงสร้างระบบรางเลื่อนอัตโนมัติแบบถาวรสำหรับสถานีสูบน้ำในฤดูหนาวที่อาจประสบปัญหาสถานีสูบน้ำไม่สามารถทำงานได้ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งหรือเมื่อน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง เป็นการป้องกันอากาศที่เย็นจัดเพื่อทำให้การผลิตน้ำบริสุทธิ์สำหรับการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
รวมไปถึงตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อครั้งที่เกิดพายุหมุนที่มีความรุนแรงขนาดที่เรียกว่าเป็นพายุทอร์นาโดในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ทำให้หอควบคุมความเย็น (Cooling tower) บางส่วนของโรงไฟฟ้าและโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่เกิดความเสียหาย แต่ด้วยประสิทธิภาพในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าด้วยทีมงานที่มีความพร้อมและประสบการณ์สูง และการเตรียมความพร้อมด้วยแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน บริษัทฯ จึงสามารถส่งมอบไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพผ่านระบบสายส่งที่ยังสามารถใช้การได้ไปพร้อม ๆ กับการเร่งซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย ทำให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาทั้งสองแห่งของ BPP กลับเข้าสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว และมีบทบาทสำคัญในการจ่ายไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนทั้งในช่วงปกติและวิกฤติสภาพอากาศได้อย่างต่อเนื่อง
เดินหน้าสร้างความมั่นคงและต่อเนื่องทางพลังงานไฟฟ้าในไทย
BPP ยังคงเดินหน้ารักษาประสิทธิภาพของระบบผลิตไฟฟ้าและค่าความพร้อมจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF) ในระดับสูงของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในประเทศไทย และโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป. ลาว พร้อม ๆ ไปกับการมีส่วนเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อส่งมอบกระแสไฟฟ้าไปยังชุมชนและสังคมได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ทำให้คนไทยสามารถดำเนินกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้อย่างไม่สะดุด ทุกช่วงเวลา
“ภายใต้แผนการเติบโตทางธุรกิจตามแนวทาง Beyond Megawatts Portfolio เราจะขยายพอร์ตธุรกิจให้เป็นมากกว่าการผลิตไฟฟ้า เราเดินหน้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น โครงการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ที่มีศักยภาพกักเก็บสะสมพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินจากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ และนำไฟฟ้าที่สะสมได้นั้นมาจ่ายในช่วงเวลาที่ต้องการหรือขาดแคลน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมความมั่นคงในการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่ระบบนิเวศการใช้พลังงานที่ยั่งยืน”
“BPP มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการเป็นองค์กรพลเมืองที่ดี (Good Corporate Citizen) ในทุกประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนและชุมชน และร่วมส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและมั่นคง ตลอดจนการศึกษาและพัฒนาพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต” อิศรา กล่าวเสริม
–Huawei เปิดตัวโซลูชันการใช้ชีวิตแบบยั่งยืน “ชาร์จในเวลากลางวัน ส่องสว่างในเวลากลางคืน”