EIC ประเมิน ตลาดปิโตรเคมีเติบโตได้ดี แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงในอนาคต

EIC ประเมิน ตลาดปิโตรเคมีเติบโตได้ดี แต่ยังต้องจับตาความเสี่ยงในอนาคต

ปี 2564 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ฟื้นตัวขึ้นหลังสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย และได้ปัจจัยบวกจากภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2565 และในระยะ 3-5 ปีต่อจากนี้ การเติบโตอาจชะลอความร้อนแรงลง โดยอุปสงค์ปิโตรเคมี ได้รับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่มีการฟื้นตัวได้ดีหลังการเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกเม็ดพลาสติก มีแนวโน้มชะลอตัวจากปีที่แล้ว ที่มีมูลค่าเติบโตถึง 41% โดยเป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของเม็ดพลาสติกของไทย คิดเป็นสัดส่วนราว 27% ของมูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมด รวมถึงสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศคู่ค้าหลัก เริ่มมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่ชะลอลง

กระทรวงการคลังโดยสรรพสามิตขยายระยะเวลาลดอัตราภาษีน้ำมันสำหรับเครื่องบินไอพ่นออกไปถึง 31 ธันวาคม 2565
บขส. ยันเปิดเดินรถปกติ ไม่ลดเที่ยววิ่ง พร้อมเตรียมเจรจารถร่วมฯ แก้ปัญหาน้ำมันแพง

นอกจากนี้ ในปี 2565 ภาคธุรกิจ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่จากสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน ซึ่งภาคปิโตรเคมีของไทย มีโอกาสได้รับผลกระทบทางด้านต่าง ๆ ดังนี้

ด้านราคาต้นทุนและความสามารถในการแข่งขัน : สงคราม และการคว่ำบาตรรัสเซียผู้ผลิตพลังงานหลัก อย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) ของปิโตรเคมี เนื่องจากปิโตรเคมีสามารถผลิตได้จาก Feedstock หลากหลายประเภท เช่น Naphtha, Gas ดังนั้น การปรับขึ้นของราคา Feedstock ที่ไม่เท่ากันจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนของผู้ผลิต

ด้านราคาผลิตภัณฑ์ : หากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตปิโตรเคมีต้องใช้เวลาในการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ตาม ดังนั้น ราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับขึ้นช้ากว่าราคาวัตถุดิบจึงทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับราคาวัตถุดิบ (spread) ถูกกดดันในระยะสั้น

ด้านการส่งออก : แม้จีนจะเป็นคู่ค้าหลักที่ยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าระดับการเติบโตของเงินเฟ้อ แต่คาดว่าจีนจะหันมาทำการค้ากับรัสเซียเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการแข่งขันในตลาดส่งออกของไทย ที่ต้องมีการแข่งขันทางการตลาดกับรัสเซียมากขึ้น

ในระยะกลาง (ช่วง 3-5 ปี) ภาคปิโตรเคมี ยังต้องมีการปรับตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในอุตสหากรรมทางด้านอื่น ๆ เช่น

กำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้น : เดิมคาดว่าจะมีกำลังการผลิตส่วนเกินเกิดขึ้นมาก แต่เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้โครงการบางส่วนยกเลิกไป แต่อย่างไรก็ตามในระยะกลาง ภาคปิโตรเคมียังคงต้องเผชิญกับภาวะอุปทานส่วนเกินใหม่เกิดขึ้นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปทานใหม่ที่เกิดขึ้นในจีนและสหรัฐฯ

เทรนด์ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม : การขึ้นรูปพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจะมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเทรนด์ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและการปฏิบัติตาม roadmap ของรัฐบาลเรื่องการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งดังนั้น ผู้ประกอบการขึ้นรูปพลาสติกชนิดนี้ อาจต้องมีการปรับตัวโดยการเปลี่ยนไปขึ้นรูปพลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำ (reuse) หรือ recycle ได้ แทนการชึ้นรูปพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

การเปลี่ยนแปลงในอุตสหากรรมรถยนต์ : ไทยมีเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน รถจักรยานยนต์ 675,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 34,000 คัน นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการผลิตรถสามล้อ เรือโดยสาร และรถไฟระบบราง ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมจะศึกษาและเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) ซึ่งนอกจากจะลดความผันผวนด้านราคาจากสินค้าพลาสติกทั่วไปแล้ว ยังสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงของการงดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้อีกด้วย

Scroll to Top