คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศความพร้อมในฐานะเจ้าภาพการจัดงานประชุม Energy Regulators Forum (ERF) และการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการด้านพลังงานระหว่างประเทศ (ERC Forum 2024) ชี้ประเทศไทยพร้อมดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก เพื่อบรรลุเป้าหมายพลังงานสะอาด พร้อมเสริมทัพความยิ่งใหญ่ด้วยการผนึกกำลังพันธมิตรภาคเอกชน ดีเอ็มจี อีเว้นท์ เผยโฉมงานยิ่งใหญ่แห่งปี Future Energy Asia and Future Mobility Asia 2024 ในการร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมพลังงานในภูมิภาคเอเชียสู่การใช้พลังงานสะอาด กำหนดการจัดงานระหว่างวันที่ 15 – 17 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
มาร์คัส เมกี รองประธานบริษัท ดีเอ็มจี อีเว้นท์ โกลบอลล์ เอนเอร์ยี ภูมิภาคเอเชีย เปิดเผยว่า จากข้อมูลของ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานของโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ระหว่างปี 2018 ถึง 2050 และภูมิภาคเอเชียเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทั้งด้านการผลิตและความต้องการในการใช้พลังงาน เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และมีการศึกษาวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับพลังงานเป็นปัจจัยสนับสนุน ดังนั้น ความร่วมมือด้านพลังงานในระดับภูมิภาคจึงเป็นวาระสำคัญที่ทุกประเทศให้ความสนใจ และมองหาแพลตฟอร์มที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจและนโยบายด้านพลังงานในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการมุ่งไปที่เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน
“ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของภูมิภาคในฐานะการจัดการที่สะท้อนถึงความร่วมมือในระดับสากล และในปีนี้ ประเทศไทยเตรียมจัดมหกรรมยิ่งใหญ่ด้านพลังงาน ในงาน Future Energy Asia & Future Mobility Asia 2024 หรืองานประชุมด้านพลังงานและนวัตกรรมยานยนต์แห่งภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 แล้วสำหรับงาน Future Energy Asia และจัดเป็นครั้งที่ 3 สำหรับงาน Future Mobility Asia พร้อมด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตร และรวบรวมผู้แสดงสินค้าและบริการกว่า 350 ราย จากทั่วโลก มาร่วมนำเสนอผลงานนวัตกรรมด้านพลังงานและยานยนต์ที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรมด้านพลังงาน ยานยนต์แห่งอนาคต และการประชุมสุดยอดผู้นำทางอุตสาหกรรมพลังงาน”
มาร์คัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงาน Future Energy Asia & Future Mobility Asia 2024 มุ่งเน้นไปที่ภูมิทัศน์ด้านพลังงานของเอเชีย ซึ่งประกอบด้วย การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) พลังงานจากไฮโดรเจนและแอมโมเนีย พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีที่ควบคุมหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Climatetech) ห่วงโซ่อุปทานและการขนส่งทางทะเล โดยมีธีมหลักคือการลดการปล่อยคาร์บอนผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสภาพภูมิอากาศ และยังมีการจัดการประชุม แลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อผลักดันนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมจากผู้นำกว่า 500 คน นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มใหม่ล่าสุดในปีนี้ คือ Future Energy Club ซึ่งเป็พื้นที่วีไอพีที่มุ่งเน้นธุรกิจเฉพาะ เพื่อเชื่อมโยงผู้นำในอุตสาหกรรมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน นักสร้างสรรค์ นักลงทุน และผู้มีอำนาจตัดสินใจ เป็นพื้นที่เครือข่ายที่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้การเจรจาสำเร็จลุล่วงด้วยดี
งานนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแบ่งปันความรู้ กลยุทธ์ และนวัตกรรมที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญที่ทำให้ประชาคมโลกสามารถเข้าถึงการเปลี่ยนผ่านห่วงโซ่คุณค่าของพลังงานในภูมิภาค ก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมพลังงานและยานยนต์ในประเทศ ทั้งนี้ ความสำเร็จของงาน Future Energy Asia & Future Mobility Asia 2023 ที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ากว่า 200 ราย จาก 70 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 17,458 คน จาก 70 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นงานที่รวบรวมผู้ทรงอิทธิพลด้านอุตสาหกรรมพลังงานที่ครอบคลุมทุกมิติตั้งแต่การต้นน้ำถึงปลายน้ำ
นอกจากนี้ ความยิ่งใหญ่ของการจัดงาน คือการสะท้อนให้เห็นถึงการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมสร้างความแข็งแกร่งทางพลังงานด้วยกัน โดยระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคม 2567 จะมีการจัดประชุม Energy Regulators Forum (ERF) และการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการด้านพลังงานระหว่างประเทศ (ERC Forum 2024) อีกด้วย
อโศก บาร์กาวา กรรมการที่ปรึกษากลยุทธ์ สมาคมกำกับพลังงานระดับภูมิภาค (Energy Regulators Regional Association : ERRA) เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานในช่วงเปลี่ยนผ่านว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านพลังงานควรปกป้องประสิทธิภาพของระบบและตลาดของพลังงานสมัยใหม่ โดยสร้างความสมดุลระหว่างผู้ประกอบการ นวัตกรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่ง ERRA เป็นเวทีหารือที่สำคัญในระดับสากลเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะนำวาระด้านกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับกิจการพลังงานจาก 48 ประเทศที่เป็นสมาชิก มาร่วมงาน Future Energy Asia Exhibition and Summit ในปี 2567 นี้
ด้าน รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวถึง วัตถุประสงค์ในการจัดประชุมสัมมนาเชิงวิชาการด้านพลังงานระหว่างประเทศ (ERC Forum 2024) ที่จะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2567 ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากภาวะโลกร้อน มีส่วนสำคัญที่เปลี่ยนฉากทัศน์ด้านพลังงานจากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ซึ่งกระแสดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ไปทั่วโลก เป็นความท้าทายของทุกประเทศในการบรรลุเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 เพื่อร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนการปฎิวัติอุตสาหกรรม
“การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำมาทั้งโอกาสและความท้าทายในการสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน การเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม และสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมต่อกิจการพลังงานของประเทศไทยโดยรวม จึงเป็นที่มาของการจัดการประชุม ERC Forum 2024 เพื่อเป็นเวทีประชุมหารือและแลกเปลี่ยนแนวคิด ข้อมูล และแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practices) สำหรับการพัฒนานโยบายและกฎระเบียบการกำกับกิจการพลังงานของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน” รศ.สุธรรม กล่าวปิดท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน Future Energy Asia and Future Mobility Asia 2024 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 17 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://www.futureenergyasia.com/delegateregistration/ สำหรับตัวแทนองค์กร และที่ https://www.futureenergyasia.com/visitor-registration/ สำหรับบุคคลทั่วไป ตลอดจนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ผ่าน https://www.futureenergyasia.com/ และช่องทางโซเชียลมีเดีย @futureenergyasia
–บอร์ด กฟผ. ยืนยันเสนอชื่อ “นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์” เข้ารับตำแหน่ง ผู้ว่าการ กฟผ.