วันนี้หลายคนยังคงมีคำถามอยู่ว่าพลังงาน “ไฮโดรเจน” ยังน่าสนใจอยู่ไหม? หลังอุตสาหกรรมยานยนต์มุ่งไป EV โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจอย่างจีน ที่ทุ่มวิจัยและพัฒนารถยนต์ EV อย่างต่อเนื่อง จนมีหลายค่ายรถที่ออกมาทำตลาดทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น BYD, GWM, AION หรือ NETA ขณะที่เทคโนโลยียานยนต์ฝากยุโรปอย่าง Mercedes-Benz, BMW หรือ Volvo ต่างก็แข่งขันในตลาด EV อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ด้านสหรัฐฯ ก็มีแบรนด์ที่หลายคนคุ้นหูกันดีอย่าง Tesla เข้ามาชิงตลาดทั่วโลก ซึ่งในปีที่ผ่านมามีรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) ขายไปทั่วโลกถึง 9.5 ล้านคันรวมทุกแบรนด์ ในปี 2023 เฉพาะในสหรัฐฯ มียอดขายถึง 1.1 ล้านคัน ขณะที่ประเทศไทยก็กระแสมาแรงไม่แพ้กัน มียอดขายไปถึง 76,000 คันในปีที่ผ่านมา และในปีนี้ก็ยังคาดการณ์กันว่ายอดขายรถ BEV จะยังเติบโตต่อเนื่องไปอีกปี
แต่ในช่วงครั้งปีหลังของปี 2023 จนถึงต้นปีที่ผ่านมา เราเริ่มได้ยินกระแสของรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนกันมากขึ้น เมื่อ ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ต่างก็ออกมาพูดถึงรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนกัน ไม่ว่าจะเป็น Toyota ที่ยังเดินหน้าพัฒนา Mirai ซึ่งรุ่นล่าสุดวิ่งได้ 650 กิโลเมตรจากการเติมไฮโดรเจน 1 ถัง ขณะที่ Hyundai พัฒนา Nexo วิ่งได้ไกล 550 กิโลเมตร
หากย้อนมาดูเรื่องพลังงานในโลกนี้ จะพบว่ามีการได้มาหลากหลายวิธี ทั้งฟอสซิล (น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ) หรือพลังงานสะอาดอย่าง น้ำ ลม และแสงแดด ส่วนในอุสาหกรรมยานยนต์จำนวนรถที่วิ่งบนท้องถนนปัจจุบันยังใช้พลังงานฟอสซิลอยู่มาก ตามมาด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่ ขณะที่รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนยังไม่ได้ถูกนำมาขายในวงกว้างถึงแม้ว่าจะถูกเคลมว่าสะอาดที่สุด
ด้าน รศ.ดร.เชิดศักดิ์ มณีรัตนรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ สจล. ให้ความเห็นว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหลาย ไม่ว่าจะ LPG, NGV หรือ น้ำมัน เป็นเชื้อเพลิงที่เมื่อเผาไหม้แล้วจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ยิ่งถ้าเครื่องยนต์สันดาปไม่สมบูรณ์ มลพิษที่ปล่อยออกมาจะมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ หรือ COเป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นแก๊สพิษที่หากสูดเข้าไปจะทำให้เม็ดเลือดแดงทำงานได้ไม่เต็มที่ไปอีก 120 วัน
หากมองไปถึงคาร์บอนฟรี จะเห็นว่าโลกไปทาง EV ซึ่งต้องยอมรับว่าพลังงานจากแบตเตอรี่ไม่ปล่อยคาร์บอนจากการขับขี่ก็จริง แต่ยังมีการตั้งคำถามว่ากระบวนการผลิตแบตเตอรี่ ยังปล่อย CO2 อยู่ และส่วนแบตเตอรี่ที่หมดอายุ ในกระบวนการทำลายจะปล่อย CO2 อีกหรือไม่
ขณะที่พลังงานไฮโดรเจนจากสิ่งมีชีวิตสีเขียว ถือว่าเป็นพลังงานสะอาด 100% เพราะในกระบวนการเผาไหม้มันจะวนกลับไปเป็นน้ำอีกครั้ง เป็นพลังงานที่สะอาดหมดจดและไม่ส่งผลเสียต่อโลก
ถึงแม้ว่าพลังงานไฮโดรเจนจากสิ่งมีชีวิตสีเขียวจะสะอาดที่สุดเมื่อเทียบกับพลังงานชนิดอื่นๆ แต่ที่เรายังไม่เห็นมันถูกนำมาใช้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแพร่หลาย เพราะมันยังมีปัจจัยที่ท้าทายอยู่มาก
รศ.ดร.เชิดศักดิ์ กล่าวว่า หนึ่งในความท้าทายของการพัฒนาคือ ขนาดโมเลกุลของไฮโดรเจนมันเล็กมาก ซึ่งถือได้ว่าเป็นโมเลกุลที่เล็กที่สุดของจักรวาลแห่งนี้ เพราะฉะนั้นการเก็บจะยาก จะกักเก็บให้อยู่ในพื้นที่จำกัดได้อย่างไร หรือจะเก็บในระยะยาวอย่างไรไม่ให้มันรั่วออกมานอกตัวถังได้อย่างไร
นอกจากนี้ไฮโดรเจนยังไวไฟกว่าพลังงานรูปแบบอื่นมาก ค่าพลังงานต่อกรัมของมันก็ให้มากกว่าเชื้อเพลิงทุกชนิด การระเบิดจึงรุนแรงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ซึ่งตรงนี้จะต้องอาศัยการออกแบบถังเก็บเพื่อให้ปลอดภัยมากขึ้น
และอีกหนึ่งความท้าทายคือ “ขั้นตอนการได้มาซึ่งพลังงานไฮโดรเจนชีวภาพ”
“การได้มาของพลังงานไฮโดรเจนมันเป็นเหมือนตาชั่ง 2 แขน คือแขนที่หนึ่งเราจะผลิตไฮโดรเจนมากๆ แต่ได้ CO2 มาด้วย หรือแขนที่สองเราจะยอมได้พลังงานไฮโดรเจนลดลง แต่โลกสะอาดขึ้น” รศ.ดร.เชิดศักดิ์ กล่าว
เพราะแขนที่หนึ่งในวิธีการได้มาซึ่งพลังงานไฮโดรเจน คือการเลี้ยง “แบคทีเรีย” เพื่อผลิตออกมาเป็นพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งให้ค่าพลังงานสูง แต่ในกระบวนการเลี้ยงแบคทีเรียจะนำออกซิเจนเข้าไปและคายคาร์บอนออกมาเหมือนมนุษย์ หมายความว่าในกระบวนการผลิตยังปล่อยคาร์บอนอยู่
การมองหาสิ่งมีชีวิตจากจุลชีพสีเขียว (รูปที่ 1)ซึ่งเป็นกลุ่มสาหร่ายสีเขียว หรือสาหร่ายไซยาโนแบคทีเรีย เป็นต้น เป็นการหาสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ผ่านการส่องกล้องจุลทรรศน์ และพิสูจน์ต่อว่าตัวไหนมีความสามารถผลิตไฮโดรเจนได้ จากนั้นจึงนำมาเลี้ยงในห้องแล็บเพื่อเพิ่มปริมาณเซลล์และการผลิตให้ได้มากขึ้น เหมือนกับเลี้ยงลูกที่ค่อยๆ โต
สำหรับการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของ สจล. นั้น รศ.ดร.เชิดศักดิ์ เลือกใช้สาหร่ายที่คัดแยกมาจากธรรมชาติของประเทศไทยกับงานวิจัยและพัฒนา เพราะเล็งเห็นว่า สิ่งมีชีวิตสีเขียวจะดึงคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปและปล่อยออกซิเจนออกมา ทำให้กระบวนการผลิตนั้นสะอาดตั้งแต่ต้นน้ำ
โดยกระบวนการผลิตแบบชีวภาพ เรียกว่าการผลิตแบบ 2 ช่วง
ช่วงแรก คือ การเลี้ยงเพื่อเพิ่มชีวมวล ทำให้เซลล์โตเร็ว มีจำนวนสาหร่ายมากขึ้น (รูปที่ 2) โดยเริ่มจากการนำเซลล์มาทดลองเลี้ยงในอาหารสูตรต่างๆ เซลล์แต่ละชนิดจะชอบกินอาหารแตกต่างกัน (ชอบเกลือสูตรแตกต่างกันออกไป) นอกจากนี้สาหร่ายแต่ละชนิดยังชอบอุณหภูมิ และแสงแดด แตกต่างกันอีกด้วย (ปัจจุบันสาหร่ายสีเขียวที่ใช้เป็นสาหร่ายที่หาได้จากแหล่งน้ำจืดในประเทศไทย)
จากนั้นช่วงที่ 2 คือ การแกล้งเซลล์ให้เซลล์ผลิตไฮโดรเจนได้มากขึ้น โดยลองให้เซลล์ไปอยู่ในสภาวะต่างๆ (รูปที่ 3) ซึ่งปัจจุบัน สจล. ได้ทดลองจนพบสภาวะที่ดีแล้ว แต่ยังเดินหน้าพัฒนาเพื่อให้ได้เซลล์ที่ดีกว่าเดิม โดยการศึกษาด้านการตัดต่อ DNA เพื่อให้เซลล์ผลิตไฮโดรเจนได้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบัน ณัฐวิกา เหล่าเกื้อ นักศึกษาปริญญาเอก เข้ามาช่วยวิจัยและพัฒนาอยู่
“การวิจัยและพัฒนาในด้านชีวภาพเพื่อให้ได้พลังงานไฮโดรเจนในจำนวนมาก ถือเป็นความท้าทายมากสำหรับเรา” รศ.ดร.เชิดศักดิ์ กล่าว
ถึงแม้ว่าวันนี้ยังมีเพียงไม่กี่ประเทศที่หันมาพัฒนารถยนต์พลังงานไฮโดรเจนอย่างจริงจัง แต่หากวันใดวันหนึ่งมันถูกนำมาใช้ได้จริง ทั้งจำนวนการผลิตรถยนต์ และการขนส่งพลังงานที่ปลอดภัยมากขึ้นในระดับที่เทียบเท่ากับรถยนต์เครื่องสันดาปหรือแบตเตอรี่ วันนั้นประเทศไทยเองก็จะต้องอยู่ในจุดที่พร้อมเชื่อมต่อกับระบบนิเวศของเครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจน โดยเฉพาะการผลิตพลังงานได้เองในประเทศ
“เราต้องยอมรับว่าวันนี้เทรนด์โลกขยับไปทางไหน เราจึงขยับตาม นวัตกรรมจึงเกิดในต่างประเทศมากกว่า เช่น สหรัฐฯ ที่มีเงินอุดหนุนมหาศาลเพื่อลองผิดลองถูก ขณะที่นักวิจัยบ้านเราไม่เป็นรองนักวิจัยจากต่างชาติ แต่เมื่อไม่มีเงินทุนให้ทำงานวิจัยจึงเกิดภาวะสมองไหล เพราะการออกไปข้างนอกมีโอกาสได้ใช้เครื่องมือดีๆ และผลตอบแทนสูงกว่า” รศ.ดร.เชิดศักดิ์ กล่าว
ด้านงานวิจัยและพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนของ สจล. รศ.ดร.เชิดศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันในฟากการเรียนด้านชีวภาพ นักศึกษายังเน้นเรียนรู้เพื่อไปใช้ในอุตสาหกรรม เช่น อาหาร เครื่องสำอาง กันเป็นส่วนมาก ขณะที่พลังงานชีวภาพยังเป็นทางเลือกในสาขาวิชา
ในมหาวิทยาลัยยังพัฒนากันแบบแล็บสเกลไม่เกิน 100 มิลลิลิตร เพื่อดูว่าสภาวะไหนเซลล์จะผลิตไฮโดรเจนได้ดี ขณะที่ในระดับอุตสาหกรรมผลิตอยู่ในระดับ 10,000 ลิตร
อีกส่วนหนึ่งของความท้าทายในการผลิตในสเกลที่สูงขึ้นคือ การผลิตไฮโดรเจนชีวภาพนี้ยังมีไอน้ำและอาร์กอน (ก๊าซที่ใช้สร้างสภาวะการผลิตไฮโดรเจนของสาหร่าย) ผสมอยู่ จะต้องมีหน่วยการผลิตมาช่วยแยกก๊าซผสมเหล่านี้ออกจากไฮโดรเจน ซึ่งจะต้องใช้กระบวนการทางวิศวกรรมเข้ามาช่วย “ถึงแม้วันนี้เทรนด์ยังไปทาง EV แต่เราก็เชื่อว่าทุกอย่างมีเวลาของมัน การทำงานของเราเป็นเพียงต้นน้ำ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ถ้าเราได้สาหร่ายที่มีประสิทธิภาพ เป็นซูเปอร์สาหร่าย ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ดี วันนี้เรายังเดินหน้าศึกษาเพราะไฮโดรเจนเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโลก” รศ.ดร.เชิดศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
โค้ก โดยกลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย สร้างความฮือฮาให้กับตลาดเครื่องดื่มอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว "โค้ก" ซีโร่ กลิ่นวานิลลา ความอร่อยใหม่ที่ผสานความซ่าส์อันเป็นเอกลักษณ์ของ "โค้ก" เข้ากับความหอมหวานละมุนละไมของวานิลลาได้อย่างลงตัว ที่สำคัญคือมาในสูตรไม่มีน้ำตาล ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen…
บริษัท ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น (Epson) ประกาศแต่งตั้ง โยชิดะ จุนคิชิ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและตัวแทนผู้อำนวยการ (President and Representative Director) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ (Chief…
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดย กองสิ่งแวดล้อม ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้าง ช่วงเวลากลางคืน การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ โดยเริ่มตั้งแต่จุดก่อสร้าง Cut…
LINE MAN ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับ Lotus’s และ Lotus’s go fresh ขยายฐานบริการ LINE MAN MART ให้ครอบคลุมกว่า 1,400 สาขาทั่วประเทศ…
พฤกษา ผนึกกำลัง โรงพยาบาลวิมุต มอบสิทธิพิเศษสุดเอ็กซ์คลูซีฟ และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพครบวงจรให้ลูกบ้านตลอดปี 2568 ภายใต้แนวคิด "สุขภาพดีเริ่มต้นที่บ้าน" จิตชญา ตู้จินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดองค์กรกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง…
ออเนอร์ (HONOR) ประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญของสมาร์ทโฟนระดับแฟลกชิป HONOR Magic7 Pro 5G ที่สร้างยอดขายเติบโตสูงถึง 2.4 เท่า นับตั้งแต่เปิดให้พรีออเดอร์เมื่อวันที่ 11-21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568…