นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับแนวทางการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 กลุ่มอาการเล็กน้อย (สีเขียว) และไม่มีภาวะเสี่ยง โดยให้บริการในลักษณะผู้ป่วยนอกและให้ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Self Isolation) ดังนั้น เพื่อให้หลักเกณฑ์และแนวทางการเบิกค่ารักษาพยาบาลของผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว สอดคล้องตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด กรมบัญชีกลางจึงกำหนดให้สถานพยาบาลของทางราชการนำหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราการจ่าย กรณีการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกและการแยกกักตัวที่บ้าน (Self Isolation) ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด มาใช้กับการเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัว ให้สอดคล้องกับพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 โดยมีอัตราการจ่ายค่าใช้จ่ายในลักษณะเหมาจ่าย ดังนี้
- ค่าบริการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโควิด 19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแบบบริการผู้ป่วยนอก จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาทต่อราย โดยครอบคลุมรายการดังนี้ (1) ค่าบริการให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในการแยกกักตัวที่บ้าน (2) การให้ยาที่เป็นการรักษาโรคโควิด 19 ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร หรือ Favipiravir (เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข) ตามแนวทางกรมการแพทย์ และหรือยารักษาตามอาการรวมค่าจัดส่ง (3) การประสานติดตามอาการเมื่อให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมง (4) การจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องส่งต่อ
- ค่าบริการสำหรับการให้คำปรึกษาหรือการดูแลรักษาเบื้องต้นเมื่อได้รับคำปรึกษาจากผู้ป่วยโควิด 19 หลังให้การดูแลครบ 48 ชั่วโมงไปแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง และหรือให้ปรึกษาอื่นๆ จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 300 บาทต่อราย
“การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด 19 โดยให้บริการในลักษณะผู้ป่วยนอกและให้ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน (Self Isolation) ให้สถานพยาบาลของทางราชการเบิกค่ารักษาพยาบาลในระบบเบิกจ่ายตรงเท่านั้น ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0416.4/ว 191 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2565 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองสวัสดิการรักษาพยาบาล กรมบัญชีกลาง หมายเลขโทรศัพท์ 02 127 7000 ต่อ 6854 4441 ในวัน เวลาราชการ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว