น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล มีข้อเสนอให้เพิ่มจำนวนธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่า ธปท. เตรียมเข้าไปหารือกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่มาพิจารณาร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ธปท.เอง ก็มีแนวนโยบายในการเพิ่มจำนวนธนาคารพาณิชย์ ด้วยการเปิดให้ขออนุญาตดำเนินการ Virtual Bank ซึ่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นรอบที่ 2 จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้ว ซึ่งน่าจะได้เห็นความชัดเจนในอีกไม่นานนี้ โดยเป้าหมายของ ธปท.คือ จะให้ใบอนุญาต Virtual Bank อีกไม่เกิน 3 ราย
–ทรูมันนี่ ยกระดับการปกป้องบัญชีลูกค้า เปิดตัวระบบป้องกันการดูดเงิน 3 ชั้น TrueMoney 3 x Protection
สุวรรณี ยังเปิดเผยอีกว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ทยอยลดลงจากที่เร่งตัวสูงในช่วงโควิด โดย ณ ไตรมาส 1 ปี 2566 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากการปรับข้อมูลให้ครอบคลุมผู้ให้กู้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่หนี้ที่เพิ่งเกิดใหม่ โดยจากข้อมูลชุดใหม่ หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 91.4% ขณะที่จำนวนบัญชีและยอดหนี้ของสินเชื่อที่ค้างชำระเกิน 90 วัน จากผลกระทบของโควิด ล่าสุดได้ทยอยปรับลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2565 แล้ว จากการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
ในระยะต่อไป NPL อาจทยอยปรับขึ้นบ้าง จากกลุ่มเปราะบางที่รายได้น้อย หรือรายได้ยังไม่ฟื้นตัว แต่จะไม่เห็น NPL Cliff หรือ NPL ที่ขยายเพิ่มขึ้นจนเป็นหน้าผา และเป็นระดับที่สถาบันการเงินบริหารจัดการได้ สอดคล้องกับมุมมองของหน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ต่อภาคธนาคารไทยที่ยังมั่นคง อีกทั้งการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ปรับดีขึ้น โดยหนี้กลุ่มเปราะบางที่อาจเสื่อมคุณภาพลง ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีภาระหนี้สูง และกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งเคยได้รับความช่วยเหลือแล้ว แต่ยังกลับมาชำระหนี้ไม่ได้ สำหรับสินเชื่อรถยนต์ ที่จัดชั้น Stage 2 ซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด ไม่จำเป็นว่าจะกลายเป็นหนี้เสียทั้งหมด ดูได้จากพฤติกรรมของลูกหนี้ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าอาจเว้นงวดผ่อนรถเพื่อนำเงินไปหมุนจ่ายภาระอื่น ทำให้โดยทั่วไป SM ของสินเชื่อรถยนต์จะอยู่ในระดับสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ซึ่ง ธปท. ได้กำชับ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันและเป็นหนี้เสียค้างชำระเกินกว่า 120 วัน ก็สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระรายเดือนอยู่ในระดับที่สามารถชำระคืนได้
ทั้งนี้ ธปท. จะเร่งออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ เกณฑ์ Responsible Lending (RL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้มีปัญหา จนถึงการขายหนี้ โดยลูกหนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทันเวลา มีคุณภาพ และเพียงพอ มีแนวทางการดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ให้เห็นทางปิดจบหนี้ได้ การใช้ กลไก Risk-based pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยหลักการสำคัญคือลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง และมาตรการ Macroprudential policy (MAPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ ไม่นำไปสูงการก่อหนี้สินเกินตัว เช่น การคุมหนี้ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน โดยจะต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจ โดย ธปท. จะชี้แจงรายละเอียดในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ต่อไป
ทั้งนี้การแก้ไขหนี้ครัวเรือน ต้องขยายผลไปยังอีก 30% ของหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ด้วย เช่น การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีความรู้และวินัยทางการเงิน การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ทั้งระบบ การพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ประเมินและติดตามหนี้ และการแก้จน สร้างรายได้ เป็นต้น