มหกรรมฟินเทคระดับโลก Money20/20 เปิดฉากขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในกรุงเทพฯ ตอกย้ำสถานะของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมการเงินและเทคโนโลยีที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การกลับมาจัดงานครั้งนี้สะท้อนถึงความสำเร็จในการสร้างโอกาสทางธุรกิจอันมหาศาลให้กับผู้เข้าร่วมงานชั้นนำทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
รายงานล่าสุดที่จัดทำโดย Money20/20 ร่วมกับ FXC Intelligence ซึ่งเปิดเผยเป็นครั้งแรกในงานนี้ คาดการณ์ว่า ปริมาณการชำระเงินระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตแบบก้าวกระโดด เกือบสองเท่าภายในปี พ.ศ. 2575 แตะระดับ 23.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 12.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และคาดว่าจะส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดการชำระเงินระหว่างประเทศทั่วโลกของเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นเป็น 36.8% ภายในปี พ.ศ. 2575
รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า ‘How Will Asia’s Money Move in the Future? 2025’s View of 2035’ ได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึกด้านขนาดตลาดจากบริษัทและผู้นำในอุตสาหกรรมกว่า 100 ราย เพื่อวิเคราะห์แนวโน้ม เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายที่จะกำหนดภูมิทัศน์การชำระเงินระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียในอีกทศวรรษข้างหน้า
ประเด็นสำคัญจากรายงาน:
- การเติบโตของตลาดชำระเงินข้ามชาติ: ในปี พ.ศ. 2567 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีสัดส่วน 32.2% ของการชำระเงินระหว่างประเทศของร้านค้าปลีกทั่วโลก คิดเป็นมูลค่า 12.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 23.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี พ.ศ. 2575 ซึ่งเป็นการเติบโตที่เร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
- อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือและเทคโนโลยี: รายงานระบุว่า 88% ของบริษัทและผู้นำในอุตสาหกรรมมองว่าความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตการชำระเงินของเอเชีย ขณะที่ 66% เชื่อว่าระบบการชำระเงินแบบเรียลไทม์มีความสำคัญไม่แพ้กัน นอกจากนี้ กระเป๋าเงินดิจิทัล, สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC), สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความมั่นคง (Stablecoin), QR Code และ Application Programming Interface (API) ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง
- พฤติกรรมผู้บริโภค นโยบาย และนวัตกรรมภาคเอกชน: ปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินในอนาคต ได้แก่ พฤติกรรมผู้บริโภค (79%), นโยบายด้านกฎระเบียบ (86%) และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี (79%) โดยคาดการณ์ว่าการชำระเงินแบบ B2C จะเติบโตเร็วที่สุด เนื่องจากการขยายตัวของอีคอมเมิร์ซและบริการสมัครสมาชิกต่างๆ
- การเปลี่ยนแปลงระหว่างประเทศที่รวดเร็วขึ้น: โครงการต่างๆ เช่น Project Nexus กำลังวางรากฐานสำหรับประสบการณ์การทำธุรกรรมข้ามพรมแดนที่ราบรื่นยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้นำในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าความหลากหลายของความต้องการในแต่ละภูมิภาคอาจทำให้โซลูชันที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งภูมิภาคเกิดขึ้นได้ยากในอนาคตอันใกล้นี้
Scarlett Sieber, Chief Strategy และ Growth Officer ของ Money20/20 กล่าวว่า “การเติบโตอย่างรวดเร็วของการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน และในอีกสิบปีข้างหน้า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับการเติบโตนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง อนาคตของภูมิภาคเอเชียไม่ได้ขึ้นอยู่กับรากฐานเดียว แต่เป็นการเชื่อมโยงของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและการยอมรับในระดับภูมิภาค”
Daniel Webber, Founder และ CEO ของ FXC Intelligence กล่าวเสริมว่า “ภูมิทัศน์ด้านการชำระเงินของเอเชียมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีความซับซ้อน รายงานฉบับนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันอย่างตั้งใจระหว่างประเทศและภาคส่วนต่างๆ รวมถึงบทบาทของเทคโนโลยี เพื่อสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่ครอบคลุมอย่างแท้จริง ความร่วมมือไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาทางเทคโนโลยี แต่เป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ในระดับภูมิภาค”
รายงานฉบับล่าสุดนี้ชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ด้วยความหลากหลายของโครงสร้างพื้นฐาน ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และนวัตกรรมดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ภูมิภาคนี้กำลังเปลี่ยนจากการทำงานแบบแยกส่วนไปสู่การร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่หลากหลาย รวมถึงนโยบายที่ชาญฉลาด เพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จร่วมกันในทุกตลาด
–Virtual Bank ยุคใหม่ กับปราการ 5 ชั้น สกัดกลโกงมิจฉาชีพไซเบอร์