“ธุรกิจการเงิน” คือกระดูกสันหลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ปรับตัวได้อย่างโดดเด่นที่สุดในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สถาบันการเงินต่าง ๆ ฟินเทคสตาร์ทอัพ (FINTECH) หรือบริษัทที่อยู่ในธุรกิจการเทรดเงินคริปโตฯ ต่าง ๆ ข้อมูลจากเอกสาร Payment Data Indicator ที่จัดทำโดย ธปท. เผย ปริมาณ e-Payment เดือนมกราคมปี 2565 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 320 รายการ/คน/ปี หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 8.3 ล้านล้านบาท สะท้อนชัดเจนถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้ใช้ที่เปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ โดยตัวแปรสำคัญคือการนำเทคโนโลยี Cloud, Blockchain, Big Data, Chatbot, AI, Machine Learning, Digital ID [Face recognition] และแพลตฟอร์ม Low-Code ต่าง ๆ มาใช้เพื่อสร้างสรรค์และปรับแต่งนวัตกรรมด้านการเงินสำหรับรองรับความต้องการของลูกค้าและพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ ในระบบนิเวศทางการเงิน
–โค้ดดิ้ง: ทักษะแห่งยุค สู่โอกาสใหม่ในโลกดิจิทัล สำหรับเยาวชนไทย
–เคล็ด(ไม่)ลับ รับมือชีวิตการทำงานออนไลน์ให้ลงตัวและ…ไม่เจ็บปวด
ประเทศไทยมี FINTECH ที่เป็นสมาชิกของสมาคมฟินเทคประเทศไทยจำนวนเกือบ 70 บริษัท (อ้างอิงข้อมูลจาก ธปท.) ในขณะที่เทคคอมพานีต่าง ๆ ก็ปรับตัวขยายแพลตฟอร์มทางการเงินกลายเป็น TECHFIN เพื่อเติมเต็มธุรกิจของตนเองมากยิ่งขึ้น ประกอบกับกระแสการตื่นตัวรับเทรนด์ Metaverse ที่กระตุ้นการปรับแผนการดำเนินงานภายในภาคธุรกิจการเงินที่กลายเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ เกิดเป็นระบบนิเวศทางการเงินแห่งอนาคตที่พึ่งพาดิจิทัลเต็มรูปแบบ “Financeverse”
โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำคัญของธุรกิจการเงินกับการก้าวไปสู่ Financeverse
นอกจากนวัตกรรมการเงินที่ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าและพาร์ทเนอร์แล้ว Tech Talents & Skill sets ใหม่ ๆ ยังถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ธุรกิจการเงินมองข้ามไม่ได้ และสามารถเติมเต็มศักยภาพของบุคลากรในโลกอนาคต, นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอื่น ๆ อาทิ เครือข่ายที่รวดเร็วและมีความเสถียร, IT โซลูชั่นและเทคโนโลยีคลาวด์ที่สามารถปรับแต่ง (Customize) ได้ตามที่ธุรกิจต้องการ, ระบบ Cybersecurity ที่ทันสมัย ปกป้องหลายชั้น, และพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูล (Data) ที่มีความน่าเชื่อถือและปรับขนาดได้ พร้อมความมั่นคงด้านพลังงานด้วยกำลังไฟฟ้าที่รองรับการดำเนินงานตลอด 24×7 และระบบสำรองพลังงานเต็มรูปแบบที่มีอยู่ใน Hyperscale Data Center
ทำไม Hyperscale Data Center ถึงมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเงินไปสู่ “Financeverse”
ด้วยปริมาณดาต้าบวกกับความคับคั่งของข้อมูลที่เพิ่มขึ้นมหาศาล มีความซับซ้อนมากขึ้นและที่สำคัญที่สุดข้อมูลลูกค้าถือเป็น “สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีค่าสูงสุด” ของภาคการเงินที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์และวางแผนธุรกิจที่อ่านเกมขาดจะสามารถกำหนดกลยุทธ์การตลาด ออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินใหม่ ๆ ได้อย่างเหมาะสมในเวลาที่ใช่ด้วยดาต้าที่มีในมือ อ้างอิงจาก Techjuly ระบุตลาดการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Big Data ในธุรกิจธนาคารทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่ามากถึง 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท) สอดคล้องกับปริมาณการใช้ดาต้าเน็ตมือถือที่เติบโตสัมพันธ์กัน โดย Statista คาดว่าในปี 65 นี้ทั่วโลกจะมีการใช้มากถึง 77.5 เอกซะไบต์ (Exabyte) นับเป็นดาต้ามหาศาลที่ต้องจัดเก็บ
ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรนาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสที เทเลมีเดีย โกล บอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) หรือ STT GDC Thailand กล่าวว่า “เราตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นระดับไฮเปอร์สเกลและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้แข็งแกร่ง มั่นคง ปลอดภัยและยั่งยืน เพื่อช่วยทำให้กระบวนการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและเข้มแข็ง ซึ่งการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ที่ตอบโจทย์ของประเทศจะต้องมองให้รอบด้านมีทั้ง ‘มาตรฐานความปลอดภัย’ (Security) และ ‘ประสิทธิผล’ (Efficiency) เป็นหลัก”
“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ เราต้องมีนวัตกรรมที่ทันสมัยและปลอดภัยมารองรับและปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม มีแนวคิดการกำหนดลำดับความสำคัญที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งการออกแบบมาตรฐานระดับสากลจะไม่เป็นเพียงการสร้างมาตรฐานใหม่ในมุมของ STT GDC Thailand หรือ ของลูกค้าเท่านั้น แต่จะสร้างความแข็งแกร่งในเชิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสำหรับตลาดในประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่ยังมีความท้าทายด้านข้อกฎหมาย และการโซนนิ่งดาต้าเซ็นเตอร์ว่าตำแหน่งที่ตั้งควรจะอยู่ที่ไหน ดังนั้นกลยุทธ์การมองเรื่องทำเลที่ตั้งยุทธศาสตร์กลางใจเมือง ปลอดภัยต่อภัยธรรมชาติ และสามารถขยายได้ตั้งแต่เริ่มต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา” ศุภรัฒศ์ กล่าวเพิ่มเติม
“เหตุผลสำคัญที่ภาคการเงินควรพิจารณาความได้เปรียบจากการใช้ Hyperscale Data Center มี 3 ประการ ได้แก่ 1) Scale ปรับขนาดได้ตามความต้องการของธุรกิจ รองรับปริมาณการใช้/เก็บดาต้าปริมาณมหาศาลและทวีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วได้ 2) Advance Secure มีความปลอดภัยขั้นสูงสุดทั้งรูปแบบ Physical & Virtual และ 3) ตอบโจทย์ ESG (Environmental Social and Governance) ที่กำลังเป็นข้อกำหนดพื้นฐานระดับโลกและเป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจและการลงทุนวันนี้” นายศุภรัฒศ์ กล่าวสรุป
3 มาตรฐานสำคัญ “Design, Security และ Green Energy” ใน Hyperscale Data Center ที่ช่วยหนุนการเติบโตธุรกิจการเงินจากนี้ไป ในมุมมองของ STT GDC Thailand ได้แก่
1.Data Center Designs คุณภาพการออกแบบและก่อสร้างมาตรฐาน ที่ปัจจุบันตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้มาตรฐานสากลของ Uptime Institute Tier III Certification เป็นหลัก มุ่งเน้นการประเมินและรับรองดาต้าเซ็นเตอร์ที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ในระหว่างการบำรุงรักษาหรือเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ ทั้งนี้ STT GDC Thailand เองก็ได้รับการรับรองมาตรฐาน Uptime Tier 3 เช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังเป็นผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์รายแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน TIA-942 Certification Rated-3 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่รองรับความปลอดภัยทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย ความปลอดภัยจากอัคคีภัย สถาปัตยกรรม ฯลฯ ซึ่งเจาะลึกในเรื่องของความปลอดภัยในระดับ Surrounding Area หรือบริบทแวดล้อมรอบด้านว่าเป็นทำเลยุทธศาสตร์หรือไม่ มีความเหมาะสมและความปลอดภัยสูงหรือไม่ มีโอกาสหรือมีความเสี่ยงจากอุบัติภัยต่าง ๆ หรือไม่ ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมรอบข้างดาต้าเซ็นเตอร์ใช้วัตถุอันตรายหรือไม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลเท่าไรหรือการป้องกันการน้ำท่วมอย่างไร มาตรฐาน TIA-942 จะลงลึกถึงระดับการปฏิบัติการ (Performance) ของดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งจะวัดระดับการใช้พลังงานทั้งหมด การใช้อุปกรณ์ต่างๆ มีมาตรฐานมากน้อยแค่ไหน จะมีการคำนวณรายละเอียดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมุ่งเน้นในเรื่องของ ‘Efficiency’ หรือประสิทธิผล
2.Data Center Security ที่ต้องครอบคลุมไปถึงมาตรฐาน TVRA, ISO27000 และ PCI-DSS โดยหลักการของมาตรฐานเหล่านี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางกายภาพ และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี เช่น มาตรฐาน TVRA จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับภัยคุกคาม อาทิ การโจรกรรม วัตถุระเบิด การลอบวางเพลิง จนถึงการเข้าสถานที่โดยไม่ได้รับอนุญาต การบุกรุก และการก่อการร้าย รวมถึงการดูแลอาคารดาต้าเซ็นเตอร์ สิ่งอำนวยความสะดวกภายใน อาคารและสภาพแวดล้อมโดยรอบ และอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ ขณะที่มาตรฐาน ISO 27001 จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทได้นำแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านความปลอดภัยมาใช้ในการปกป้องข้อมูลและการจัดการความเสี่ยงสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งรวมไปถึงมาตรฐานด้านความมั่นคงทางไอทีสำหรับองค์กรที่ต้องจัดการกับข้อมูลการชำระเงิน (PCI-DSS) เพื่อตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัยของข้อมูลของลูกค้าในระดับสูงสุด
3.Green Energy ดาต้าเซ็นเตอร์ที่อยู่ในระดับไฮเปอร์สเกลจะใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก ซึ่ง STT GDC นับเป็นผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์รายแรก ๆ ที่ให้ความสำคัญกับประสิทธิผลและมาตรฐานของการใช้พลังงานทั้งน้ำ ไฟฟ้า รวมถึงคุณภาพอากาศภายในโครงการ โดยคุณสมบัติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากการที่ STT GDC ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียว LEED Gold (ในหมวดดาต้าเซ็นเตอร์) ที่นอกจากจะบ่งบอกถึงเรื่องการประหยัดพลังงานและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสื่อถึงการใช้วัสดุ ทรัพยากร และการบริหารจัดการสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ โดยมาตรฐานดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์หันมาใช้ Green Energy กันมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีสัดส่วนการใช้ Green Energy อยู่ที่ประมาณ 2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับพลังงานรูปแบบอื่น สำหรับ STT GDC ได้ตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนด้วยการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2573
ในวันที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโรคระบาดหรือความผันผวนของเศรษฐกิจ หรือผลกระทบจากภาวะสงครามที่เป็นตัวเร่งในการปฏิวัติโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ส่งผลให้คนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตการทำงานเป็นรีโมทเวิร์ค และใช้ชีวิตผ่านออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการถูกล็อคดาวน์ ข้อมูลจำนวนมหาศาลถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI, IoT, นวัตกรรมของระบบคลาวด์ โซลูชันจากผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ผู้ผลิตคอนเทนต์ และผู้ประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ตลอดจนองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ผลักดันให้การรักษาความปลอดภัยดิจิทัลและความสามารถในการปรับขนาดธุรกิจได้เกิดความสำคัญเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจในอุตสาหกรรมการเงินที่เป็น Backbone สำคัญของระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จากฝั่งธุรกิจที่ต้องการความมั่นคงด้านข้อมูล ในขณะเดียวกันยังสอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่ ๆ ของอุตสาหกรรมการเงินทั่วโลกและนำไปสู่ความมั่นใจในระบบดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกลที่เป็นหัวใจสำคัญของการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถกำหนดแนวทางความสำเร็จของธุรกิจในอนาคตได้ชัดเจนและยั่งยืน