นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.ครั้งที่6/2566 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี โดย มองว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในปี 67 และ 68 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายสมดุลขึ้น จากอุปสงค์ ในประเทศ ทั้งภาคการท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก
ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันเหมาะสม ที่จะสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว และ ป้องกันความไม่สมดุลทางการเงิน และรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
ขณะที่เศรษฐกิจไทย ในปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัว2.4% จากการประชุมครั้งก่อน ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% และส่วนเศรษฐกิจปี67 จะขยายตัวและ 3.2 % ลดลง จากการประชุมครั้งก่อนที่คาดว่าจะโตถึง 4.4% หากรวมผลจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ดาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัว 3.8 % ลดลงจากที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน จะขยายตัว4.4 %
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีตามการใช้จ่ายในหมวดบริการ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น
ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ในระยะต่อไป เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น ภายใต้บริบทภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออก สินค้ากลับมาขยายตัว แต่มีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่มีปัจจัยเชิงโครงสร้าง
ที่เปลี่ยนแปลงไป
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ 1.3 %ในปี 2566 และ และ 2.0 % ในปี 2567 โดยหากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.2 % ลดลงจาก 2.6 % จากประมาณการครั้งก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ปรับลดลงจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้าและปัจจัยชั่วคราวโดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงานและราคาอาหารสดที่ต่ำกว่าคาด
ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลคาดว่า จะอยู่ที่ 1.3% ในปี 2566 และ 1.2% ในปี2567 ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากต้นทุนราคา อาหารที่อาจปรับสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งใน
ตะวันออกกลางที่อาจส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้น