สูงวัยเสี่ยงโรคงูสวัด! แพทย์ รพ.วิมุต แนะฉีดวัคซีนป้องกันอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน

สูงวัยเสี่ยงโรคงูสวัด! แพทย์ รพ.วิมุต แนะฉีดวัคซีนป้องกันอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายและภูมิคุ้มกันของเราก็เสื่อมถอยลงเป็นธรรมดา ทำให้เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย หนึ่งในนั้นคือ “โรคงูสวัด” ภัยร้ายที่คุกคามผู้สูงวัย ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่แฝงตัวอยู่ในร่างกายหลังจากที่เราเคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน เมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เชื้อร้ายก็จะกำเริบและกลายเป็นโรคงูสวัด สร้างความเจ็บปวดแสนสาหัสด้วยอาการปวดแสบปวดร้อน ผื่นและตุ่มน้ำตามแนวเส้นประสาท หลายคนอาจเคยได้ยินความเชื่อผิดๆ ว่า หากผื่นงูสวัดพันรอบตัวจะทำให้เสียชีวิตได้ เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหน? วันนี้ นพ.บารมี พงษ์ลิขิตมงคล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์อายุรกรรม รพ.วิมุต จะมาเปิดเผยทุกเรื่องจริงเกี่ยวกับโรคงูสวัด พร้อมแนะนำความสำคัญของการฉีดวัคซีน เพื่อให้ผู้สูงวัยที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงได้ปลอดภัยจากโรคร้ายนี้

โรคงูสวัด ภัยร้ายที่แฝงตัวเมื่อภูมิคุ้มกันต่ำ

โรคงูสวัดมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus – VZV) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อเราเป็นอีสุกอีใส ร่างกายอาจกำจัดเชื้อไม่หมด ทำให้เชื้อบางส่วนหลบซ่อนอยู่ตามปมประสาท เมื่อใดที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง เจ้าเชื้อร้ายก็จะถูกกระตุ้นและทำให้เกิดโรคงูสวัดได้ นอกจากนี้ งูสวัดยังสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสหรือการหายใจเอาละอองจากตุ่มน้ำของผู้ป่วยเข้าไป หากผู้ที่ได้รับเชื้อไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน ก็จะป่วยเป็นอีสุกอีใสก่อน

ปัจจัยเสี่ยงโรคงูสวัด

ผู้ที่มีเชื้อของโรคอีสุกอีใสอยู่ในร่างกายทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัดเมื่อร่างกายอ่อนแอ โดยทั่วไปแล้ว มักพบในผู้ที่มีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป หรือในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง, HIV, โรคเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคไตเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยากดภูมิ และโรคแพ้ภูมิตัวเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงในการเป็นงูสวัดมากกว่าคนทั่วไป

งูสวัดพันรอบตัว ไม่ถึงตาย แต่อาการรุนแรงกว่า

อาการเริ่มต้นของโรคงูสวัดคืออาการปวดแสบ ปวดร้อน คันบริเวณผิวหนัง มีไข้ และมีผื่นเป็นตุ่มนูนแดงเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสคล้ายกับตุ่มของอีสุกอีใส โดยตำแหน่งที่พบบ่อยคือบริเวณลำตัวและใบหน้า ตุ่มน้ำจะแตกและแห้งไปเองภายใน 7-10 วัน และจะหายดีประมาณ 2-4 สัปดาห์

นพ.บารมี อธิบายเพิ่มเติมว่า “หลังจากหายป่วยแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ เช่น อาการปวดตามแนวเส้นประสาทบริเวณที่มีผื่นหรือตุ่มน้ำ การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หรือภาวะงูสวัดขึ้นตาที่ส่งผลกระทบต่อดวงตาและการมองเห็น หลายคนอาจเคยได้ยินว่าถ้างูสวัดพันรอบตัวจะทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น และงูสวัดมักจะขึ้นเพียงด้านใดด้านหนึ่งของลำตัวเท่านั้น แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นพร้อมกันสองฝั่งในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก ทำให้มีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป”

โรคงูสวัด อย่าซื้อยาเอง ควรพบแพทย์เพื่อรักษา

การวินิจฉัยโรคงูสวัดสามารถทำได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่า 50% ในกรณีที่ต้องการยืนยันผล แพทย์อาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การเจาะตุ่มน้ำหรือขูดเซลล์ เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของเซลล์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส

นพ.บารมี กล่าวถึงการรักษาว่า “การรักษาจะพิจารณาตามระยะเวลาของการเกิดโรค หากยังอยู่ในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังเริ่มมีอาการ สามารถให้ยาต้านไวรัสเพื่อช่วยลดความรุนแรง ระยะเวลาการรักษา และการแพร่กระจายของเชื้อ หากพ้นช่วงนี้ไปแล้ว แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดหรือยาแก้คัน อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำควรหลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเองหรือใช้ยาสมุนไพรทาแผล เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน นอกจากนี้ ผมขอแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไว้ เพราะช่วยป้องกันโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

วัคซีนป้องกันงูสวัดมีประสิทธิภาพสูงถึง 90%

การป้องกันโรคงูสวัดสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เริ่มจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นงูสวัด ที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Shingrix) 2 เข็ม ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มารับวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน

“วัคซีน Shingrix จำนวน 2 เข็ม สามารถป้องกันการเกิดโรคและภาวะปวดปลายประสาทหลังเป็นงูสวัดได้มากกว่า 90% ครอบคลุมอาการปวดร้อน ปวดแสบปมประสาท ลดความรุนแรงของโรคและโอกาสเกิดซ้ำได้ โดยฉีดเข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 2-6 เดือน และอาจมีอาการข้างเคียง เช่น ปวดบวมแดงตรงแขนที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว แต่จะเป็นไม่เกิน 2 วัน” นพ.บารมี อธิบาย

“แม้ว่างูสวัดจะเป็นโรคที่หายเองได้หากร่างกายของเรามีความแข็งแรงดีอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี อาจต้องดูแลร่างกายเป็นพิเศษ ที่สำคัญคืออย่าลืมฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ ควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ หากมีอาการปวดแสบปวดร้อนตามตัว หรือมีอาการที่เข้าข่ายโรคงูสวัด ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาทันที ก่อนที่อาการจะลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อน” นพ.บารมี กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่ ศูนย์อายุรกรรม ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต เวลาทำการ 07:00-24:00 น. โทร. 0-2079-0030 หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือใช้บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์

มูลนิธิรามาธิบดีฯ ประกาศวิสัยทัศน์ปี 2568 มุ่งสู่ “การให้ที่ยั่งยืน” พัฒนาระบบสาธารณสุขไทย

Scroll to Top