เด็กเหนื่อยง่าย-โตช้า เสี่ยง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แพทย์วิมุตเตือน อันตรายที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ ก่อนกระทบชีวิตลูกในระยะยาว

เด็กเหนื่อยง่าย-โตช้า เสี่ยง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แพทย์วิมุตเตือน อันตรายที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ ก่อนกระทบชีวิตลูกในระยะยาว

เชื่อว่าคุณแม่ที่กำลังตั้งท้อง ก็หวังให้เจ้าตัวน้อยในครรภ์โตมาแข็งแรง และคลอดออกมามีร่างกายครบสมบูรณ์เหมือนคนทั่วไป แต่ในเด็กบางคน มองภายนอกก็ดูปกติดี แต่กลับมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการเหนื่อยหอบ หรือมีน้ำหนักตัวผิดปกติไม่สมกับวัย ซึ่งสร้างความกังวลให้ผู้ปกครองอย่างมาก จริง ๆ แล้ว นี่อาจเป็นสัญญาณว่าเจ้าตัวน้อยเป็น “โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด” ภาวะผิดปกติของโครงสร้างหัวใจที่พบได้ในเด็กแรกเกิด 8 ใน 1,000 คน ที่หากไม่รักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้เด็กโตมาไม่แข็งแรงและกระทบการใช้ชีวิตในระยะยาว วันนี้ นพ.สุวาณิช เตรียมชาญชูชัยอายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด รพ.วิมุต จะมาไขข้อสงสัยเรื่องโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด พร้อมบอกแนวทางรักษา เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและพร้อมรับมือกับโรคของเจ้าตัวน้อย

“โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด” อันตรายของเจ้าตัวน้อย

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease) คือความผิดปกติของโครงสร้างของหัวใจหรือหลอดเลือดหัวใจ ที่เกิดในกระบวนการสร้างหัวใจในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 5 – 12 สัปดาห์ “โดยโรคนี้แบ่งได้เป็นสองประเภท คือ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเขียว คือเลือดดำผสมกับเลือดแดงตั้งแต่เกิด กลุ่มนี้มักมีอาการรุนแรงตั้งแต่เด็ก เช่น เหนื่อยหอบมากขณะดูดนมแม่ โตช้า และเหนื่อยง่ายตอนออกกำลังกาย อีกประเภทคือ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดไม่เขียว ส่วนใหญ่เกิดจากผนังหัวใจรั่ว แต่เลือดแดงกับเลือดดํายังไม่ผสมกัน กลุ่มนี้อาจมีอาการเมื่อโตขึ้นมา เช่น เหนื่อยง่าย ออกกําลังกายไม่ไหว มีน้ำหนักหรือส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์” นพ.สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย อธิบาย

เป็นโรค-ใช้ยา-ดื่มสุรา เสี่ยงทารกเป็น “โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด”

ปัจจัยเสี่ยงของคุณแม่ที่ทำให้เด็กเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ได้แก่ กลุ่มคุณแม่อายุมาก ทำให้มีความเสี่ยงที่ลูกเกิดมาเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคดาวน์ซินโดรม ส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้า มีความบกพร่องทางสติปัญญา และเสี่ยงโรคทางหัวใจประมาณ 40% ต่อมาคือกลุ่มคุณแม่ที่เป็นโรคระหว่างตั้งครรภ์ เช่น 1.โรคเบาหวาน ที่ทำให้ทารกตัวโต เพิ่มความเสี่ยงภาวะหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือหลอดเลือดหัวใจสลับขั้ว 2. โรคไข้หวัดใหญ่ ที่เมื่อเด็กโตขึ้นจะมีความเสี่ยงโรคหัวใจมากกว่าเด็กปกติถึงสองเท่า 3. โรคหัดเยอรมัน ที่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดของทารก 4. กลุ่มคุณแม่ที่ได้รับสารเคมีหรือได้รับยาระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าเชื้อ ยาปฏิชีวนะ ยากันชัก ก็อาจมีผลต่อเด็กในครรภ์ คุณแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์จึงต้องปรึกษาแพทย์ในการใช้ยาอยู่เสมอ และในกลุ่มสุดท้ายคือ 5. กลุ่มคุณแม่ที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์ ที่อาจส่งผลต่อหัวใจและอวัยวะต่าง ๆ ของเด็กในครรภ์ได้

“โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด” รักษาช้า โตไปสุขภาพแย่

หากผู้ปกครองสังเกตว่าทารกดูดนมแม่แล้วเหนื่อยหอบ ตัวเขียว น้ำหนักตัวน้อยเกินไป หรือหายใจไม่ทัน มีโอกาสเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดได้ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ โดยการวินิจฉัยโรคจะแบ่งออกเป็นสองแบบ คือ กรณีที่เด็กยังอยู่ในครรภ์ และคุณแม่อยากตรวจสอบความเสี่ยงของลูก แพทย์จะทำอัลตราซาวด์หัวใจควบคู่ไปกับการดูว่าน้ำหนักตัวเด็กสัมพันธ์กับอายุหรือไม่ ส่วนกรณีที่เด็กออกมาแล้ว แพทย์จะตรวจคลื่นหัวใจ (Echocardiogram) และเอกซเรย์ปอด หรือใช้การ CT Scan หรือ MRI เพื่อตรวจสอบการทํางานของหัวใจเพิ่มเติม นพ.สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย อธิบายถึงการรักษาว่า “โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดสามารถรักษาให้หายได้ ยิ่งตรวจพบไวก็รักษาหายเร็ว ในบางรายอาจไม่มีอาการอันตรายและหายได้เองเมื่อทารกโตขึ้น ส่วนบางคนอาจต้องใช้ยารักษา แต่ถ้าในกรณีที่เด็กมีภาวะเขียว ส่วนใหญ่ต้องรักษาด้วยการสวนหัวใจหรือผ่าตัดเพื่อปิดรูรั่วหัวใจ ซึ่งปัจจุบันทางการแพทย์สามารถใช้อุปกรณ์สวนเข้าไปปิดรูรั่วได้เลย ไม่จําเป็นต้องเปิดอกเพื่อทำการผ่าตัดใหญ่”

“โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็กอย่างมาก ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตสุขภาพของเด็ก ๆ อยู่เสมอ เมื่อพบอาการผิดปกติจะได้พาไปพบแพทย์ทันที ถ้าพบว่าลูกของเราเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ก็ไม่อยากให้กังวลมากเกินไป เพราะบางครั้งสามารถรักษาให้หายได้ ด้านคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยดูแลสุขภาพของเจ้าตัวน้อยให้ดี ใส่ใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ พาเด็ก ๆ ไปรับวัคซีนอยู่เสมอ และระวังเรื่องฟันผุที่อาจทำให้ติดเชื้อลงไปในหัวใจได้ ถ้าดูแลได้ดีสม่ำเสมอก็จะช่วยให้สุขภาพหัวใจของลูก ๆ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ได้อย่างแข็งแรง” นพ.สุวาณิช เตรียมชาญชูชัย กล่าวทิ้งท้าย

วิมุต ชี้แนวโน้มคนทำศัลยกรรมอายุเฉลี่ยน้อยลง รุกเปิดศูนย์ศัลยกรรมปรับโครงหน้า ชิงส่วนแบ่งตลาด 7 หมื่นล้าน

Scroll to Top